อ่วม! 4 อำเภอ คันดินกั้นน้ำพังทลาย

View icon 60
วันที่ 26 ส.ค. 2567
ข่าวเย็นประเด็นร้อน
แชร์
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - มวลน้ำมหาศาลจากลำน้ำยม ที่ไหลมาจาก อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้านใน อำเภอสวรรคโลก และศรีสำโรง ที่อยู่เหนือเมืองสุโขทัยกลางดึกที่ผ่านมา ส่งผลให้พนังกั้นน้ำแตกหลายจุด ส่วนถนนที่จะข้ามสะพานวังใหญ่ ไม่สามารถใช้การได้

อ่วม! 4 อำเภอ คันดินกั้นน้ำพังทลาย
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย หลังจากมีมวลน้ำจาก อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ เริ่มไหลผ่าน หลายจุดมีน้ำไหลแรงและสีแดงขุ่น บางจุดมีความอ่อนไหว แม้จะมีการวางคันดิน แต่ก็ไม่สามารถต้านทานแรงน้ำได้ ล่าสุดเฟซบุ๊กแฟนเพจ เทศบาลเมืองสุโขทัยธา เปิดเผยว่า ระดับน้ำในแม่น้ำยมเวลานี้ ระดับน้ำปัจจบุันอยู่ที่ 7.69 เมตร (ข้อมูลเมื่อเวลา 14.00) อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง จากระดับตลิ่ง 8.15 เมตร

ส่วน 4 อำเภอที่น้ำท่วม ได้แก่ อำเภอเมือง, อำเภอสวรรคโลก, อำเภอศรีสำโรง, อำเภอศรีสัชนาลัย ปัจจุบันปริมาณแม่น้ำยม ที่ไหลผ่าน อำเภอศรีสัชนาลัย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับตัวเมือง ระดับน้ำก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน แต่ยังต่ำกว่ากำแพงป้องกันตลิ่ง

ส่วนอีกหนึ่งอำเภอที่ต้องเฝ้าระวัง คือ อำเภอกงไกรลาศ ทาง ปภ. ขอให้ประชาชน ในพื้นที่เตรียมพร้อมอพยพ และเริ่มขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง

น้ำเซาะคอสะพานขาด
ส่วนสถานการณ์ที่คลองกระจง อำเภอสวรรคโลก หลังพนังกั้นแม่น้ำยมแตก ส่งผลให้บางจุดน้ำสูง 1-2 เมตร และได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง น้ำได้ล้นตลิ่งและกัดเซาะคันดินบริเวณคอสะพานแม่น้ำยม ฝั่งตะวันออกเป็นแนวยาว 15 เมตร ทำให้มวลน้ำไหลทะลักเข้าท่วมวัดหนองโว้ง บ้านเรือน และถนนข้างวัดหนองโว้ง ตอนนี้ยังคงต้องปิดถนนบริเวณวัดหนองโว้งชั่วคราว 

นางสมบูรณ์ อายุ 66 ปี ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่า เมื่อคืนนี้น้ำไหลเข้าท่วมบ้านแบบไม่ทันตั้งตัว ทำให้ข้าวของในบ้านเสียหาย และปริมาณน้ำปีนี้มากกว่าปี 2554

แจงขั้นตอนจัดการมวลน้ำ
มวลน้ำจากอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ คาดว่าพรุ่งนี้จะมาถึงที่อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ประมาณเที่ยง เป็นปริมาณน้ำสูงสุดที่ 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจังหวัดสุโขทัยมีศักยภาพในการบริหารจัดการน้ำได้แค่ 1,200 ลูกบาศก์เมตร ดังนั้นน้ำที่เกิดมา 500 ลูกบาศก์เมตรจะจัดการอย่างไร

สอบถามกับ ผอ.ฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สทนช.ว่า การจัดการน้ำที่เกินมาของสุโขทัย จะผ่านประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ ซึ่งจะผันน้ำไปคลองฝั่งซ้าย-ขวา เหนือ-ใต้ ก่อนเข้าตัวเมือง เป็นการช่วยหน่วงน้ำเอาไว้ แต่ช่วยลดความแรงของน้ำ ลดการกัดเซาะตลิ่ง ลดความเสียหายได้ส่วนหนึ่ง แต่คาดว่าน้ำจะผ่านประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์นี้กว่า 900 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งความสามารถที่พนังกั้นแม่น้ำที่จะไม่ให้น้ำเข้าตัวเมืองสุโขทัยรับได้คือไม่เกิน 700 ลูกบาศก์เมตร ดังนั้นจะมีน้ำที่เกิดอยู่ก็จะมีการเก็บน้ำตามทุ่งต่าง ๆ เพราะฉะนั้นระดับน้ำในตัวเมืองสุโขทัยจะทรงตัวและลดลงเล็กน้อย

อย่างไรก็ตาม แม้ทางสทนช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำงานแบบบูรณาการณ์ร่วมกันแล้ว แต่เรื่องของสภาพอากาศก็น่าเป็นห่วง โดยทางผอ.ฐนโรจน์ ห่วงกังวลว่าในช่วงวันที่ 30 คาดว่าจะมีฝนตกเข้ามาในพื้นที่เดิม แม้ไม่หนักมาก แต่อาจทำให้มีน้ำหลากเพิ่ม และครึ่งเดือนแรกของเดือนกันยายนจะมีฝนตกในพื้นที่ซ้ำของภาคเหนือตอนบนและภาคอีสานตอนบน

บินโดรนส่งอาหารให้ผู้ประสบภัย
ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับกองทัพบก สนธิกำลังส่งเฮลิคอปเตอร์บรรเทาสาธารณภัย KA-32 จำนวน 1 ลำ สนับสนุนภารกิจการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ด้านกลุ่มโดรนเพื่อการเกษตร อำเภอเทิง จังหวัดสุโขทัย ได้บินโดรน 4 เครื่อง ซึ่งเป็นโดรนการเกษตร ที่รับน้ำหนักได้ 20-30 กิโลกรัม เพื่อใช้ขนส่งน้ำ-อาหาร ให้แก่ผู้ประสบภัย บริเวณสะพาน บ้านปางค่า หมู่ 8 ตำบลตับเต่า

ผู้ประกอบแจงน้ำท่วมบางพื้นที่
ต้องบอกว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร ร้านค้า แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในสุโขทัย ก็เดือดร้อนหนัก หลังเจอข่าวน้ำท่วม โดยที่สุโขทัยมีทั้งหมด 9 อำเภอ ซึ่งบางอำเภอน้ำไม่ได้ท่วม ทางผู้ประกอบกับจึงอยากให้ทำความเข้าใจว่า ไม่ได้ท่วมทั้งจังหวัด บางพื้นที่ยังเที่ยวได้ ถนนสายหลักสัญจรปกติ อย่างเช่น อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ที่ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง ห่างไกลตัวเมืองและแม่น้ำยม 10 กิโลเมตร น้ำไม่ท่วม มาเที่ยวกันได้สบาย

เสริมคันดินกั้นน้ำยมสายเก่า ขึ้นธงแดงเตือน
สถานการณ์น้ำที่ จังหวัดพิษณุโลก เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแม่น้ำยมสายเก่า ที่จะรับน้ำจากสุโขทัย เบื้องต้นได้นำรถขุดไฮโดรลิค 4 คัน เร่งเสริมคันกั้นน้ำ ป้องกันน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ตามแนวแม่น้ำยมสายเก่า (คลองเมม) ในเขต ตำบลท่าช้าง ตำบลพรหมพิราม ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,610 ลบ.ม./วินาที และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 

ล่าสุดมีการผันน้ำเข้าสู่ทุ่งบางระกำโมเดล ทางคลองแยงมุม โดยจะเปิดให้ไหลเข้าทุ่งเป้าหมายแค่ 30 - 40 เปอร์เซ็นต์ก่อน และปล่อยให้น้ำ จากแม่น้ำยมสายเก่า และสายหลัก ไปพบกันที่ปากแม่น้ำยม ที่ประตูระบายน้ำบางแก้ว จากนั้นจะปล่อยน้ำไปสู่คลองระบาย และไปสู่แม่น้ำน่าน ผันลงที่ประตูระบายน้ำ DR2.8 ที่ ตำบลงิ้วงาม จังหวัดพิษณุโลก ทันที เพื่อรักษาระดับในน้ำแม่น้ำยมสายหลักไม่ให้สูงเกิน เพราะจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางการเกษตร และบ้านเรือนที่ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ได้

สั่ง  4 อำเภอเฝ้าระวังสถานการณ์
ส่วนที่จังหวัดพิจิตร ประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยง และให้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ลุ่ม แม่น้ำยม 4 อำเภอ ประกอบไปด้วย อำเภอสามง่าม, อำเภอโพธิ์ประทับช้าง,อำเภอบึงนาราง และอำเภอโพทะเล 

เตือน 11 จังหวัดภาคกลาง น้ำหนุนสูง
ด้านกรมชลประทานประกาศว่า ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 สิงหาคม ยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง และมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง และภาคใต้ จากการคาดการณ์ ปริมาณน้ำล่วงหน้า 1-3 วันข้างหน้า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้กรมชลประทาน ยังออกหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำฉบับที่ 4 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัด 11 จังหวัดลุ่มภาคกลาง ว่าอาจมีน้ำหนุนสูง ได้แก่ อุทัยธานี, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, สุพรรณบุรี, พระนครศรีอยุธยา, ลพบุรี, ปทุมธานี, นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร

น้ำเหนือไหลลงเขื่อนสูงขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์น้ำ เขื่อนเจ้าพระยา ตำบลบางหลวง จังหวัดชัยนาท กุญแจสำคัญในการบริหารจัดการน้ำลุ่มภาคกลาง ล่าสุดพบปริมาณน้ำเหนือที่ไหลลงเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยจุดวัดน้ำ C2 หน้าค่ายจิรประวัติ จังหวัดนครสวรรค์ วัดได้ 1,068 ลบ.ม./วินาที (ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ยกตัวขึ้น 25 เซนติเมตรในรอบ 24 ชม ถ้าน้ำหนุนเพิ่มสูงขึ้นอีก อำเภอแรกของนครสวรรค์ที่จะได้รับผลกระทบ คืออำเภอหนองบัว ขึ้นกับอำเภอชุมแสง

น้ำท่วมนาปลูกข้าวกว่า 2 แสนไร่
ด้าน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ จิสด้า (GISTDA) ใช้ข้อมูลจากภาพดาวเทียม ในวันที่ 25 สิงหาคม พบจังหวัดที่มีพื้นที่น้ำท่วมขังบางส่วน 7 จังหวัด อาทิ เชียงราย, พะเยา, สุโขทัย, พิจิตร, พิษณุโลก, นครสวรรค์, และแพร่ รวมพื้นที่ประมาณ 431,343 ไร่

โดยเป็นพื้นที่ปลูกข้าว 263,580 ไร่ ซึ่งพื้นที่ที่พบส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่การเกษตร พื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำสายหลักและสายรอง รวมถึงชุมชนที่อยู่อาศัยและเส้นทางคมนาคมบางส่วน

ท่วม 13 จังหวัด ปชช.รับผลกระทบ 3 หมื่นครัวเรือน
ภาพรวม สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุดรธานี ระยอง ภูเก็ต ยะลา และนครศรีธรรมราช รวม 68 อำเภอ 270 ตำบล 1,469 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบแล้ว 30,953 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 22 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 19 ราย

ทักษิณ บินดูน้ำท่วมเชียงราย 27 ส.ค.
นอกจากนี้ มีรายงานว่า วันพรุ่งนี้ (27 ส.ค.) นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเดินทางมายัง จังหวัดเชียงราย เพื่อให้กำลังใจ และช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบปัญหาน้ำท่วม โดยระหว่างที่นายทักษิณ เดินทางไปที่อาคารชินวัตร 3 ถนนวิภาวดี เจ้าตัวยอมรับว่าจะลงพื้นที่ โดยบอกสั้น ๆ ว่า "จะไปเยี่ยมชาวบ้าน"