ชาวบ้าน จ.สุโขทัย เร่งตอกแผงไม้ยูคากันตลิ่งที่เริ่มทรุดและเบี่ยงทางน้ำ

View icon 116
วันที่ 25 ส.ค. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
วันนี้ (35 ส.ค.67)   ที่ ม.2 ต.ปากแคว อ.เมือง จ.สุโขทัย ชาวบ้านเร่งนำไม้ยูคายาวกว่า 4 เมตร ตอกลงบริเวณผนังดินกั้นแม่น้ำยมที่เริ่มทรุดจากการกระแทกของน้ำ และเมื่อตอกไม้ยูคาแล้วจะนำกระสอบทรายลงเสริม เพื่อให้ผนังที่เหลือกว้างเพียง 2 เมตรแข็งแรงขึ้น โดยหวังว่าจะสามารถผ่านช่วงวิกฤตของมวลน้ำที่ไหลมาจากจังหวัดแพร่ในครั้งนี้ โดยหวังว่าพื้นที่ไร่ข้าวโพด และบ้านเรือกว่า 20 หลังจะปลอดภัยและหวังว่านำจะไม่ทะลักเข้ามาสร้างความเสียหาย
 
สำหรับการบริหารจัดการน้ำในจังหวัดสุโขทัยนั้น ในช่วงเย็นของวันที่ 24 สิงหาคม น้ำจากจังหวัดแพร่ ในปริมาณความเร็วน้ำ1,495 ลบ.เมตร/วินาที จะไหลมาสมทบที่ จุดวัดน้ำ Y 14 A บ้านแม่สำเหนือ อ.ศรีสัชนาลัย ปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,142 ลบ ม./วินาที จากนั้นทางชลประทานจังหวัดสุโขทัย จะมีการผันน้ำไปยังฝั่งซ้ายของแม่น้ำยม ผ่านประตูระบายน้ำคลองหกบาท ประมาณ 340 ลบ.ม./วินาที   ไปเส้น ยม-น่าน 160 ลบ.ม./วินาที มวลน้ำประมาณ 400 ลบ.ม./วินาทีนี้จะไหลไปรวมกันที่แม่น้ำน่าน และบางส่วนประมาณ 180 ลบ.ม./วินาที จะไหลมาลงที่แม่น้ำยมสายเก่า

โดยจะมีการควบคุมน้ำไว้ที่ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก ในเกณฑ์ 640 ลบ.ม./วินาที  จากนั้นจะตัดออกฝั่งขวา มาหน่วงไว้ที่ทะเลหลวง ผ่านคลองต้นข้อ คลองบ้านหลุม ผ่านประตูระบายน้ำยางซ้าย ควบคุมไว้ที่ Y 4 หน้าจวนผู้ว่า อ.เมืองสุโขทัย ไม่เกิน 510 ลบ.ม./วินาที  หากน้ำมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยในคืนนี้ ถึงเช้าวันที่ 25 สิงหาคม จากจุดวัดน้ำ Y 14 A บ้านแม่สำเหนือ  อ.ศรีสัชนาลัย คาดว่าจะมีปริมาณน้ำผ่าน 1,495 ลบ ม./วินาที

ทางชลประทานจังหวัดสุโขทัยจะเร่งการระบายที่ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์  ซึ่งจะส่งผลกระทบในเขตอำเภอเมืองสุโขทัย คาดว่าจะมีผลกระทบในคืนนี้ (25 ส.ค.67)  จะเริ่มมีน้ำล้นคันกั้นน้ำจากการระบายน้ำเกินความจุ และคันดินบางจุดจะรับไม่ได้ รวมถึงน้ำล้นตลิ่งในบางจุด ซึ่งจังหวัดได้เตรียมการรับน้ำ และตั้งศูนย์บัญชาการน้ำจังหวัดสุโขทัยไว้คอยช่วยเหลือประชาชนแล้ว
 
ส่วนที่สะพานพระแม่ย่า หนึ่งในสามสะพานที่น้ำยมผ่าน เข้าเมืองสุโขทัย ทางเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ได้นำบิ๊กแบ๊กมาวางสองฝั่งสะพาน ระยะทาง 35 เมตร และปิดสะพาน  เพื่อเปิดเป็นทางน้ำ ให้มวลน้ำจากแม่น้ำยมที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นไหลผ่านผิวสะพาน ซึ่งมีปริมาณน้ำไหลผ่านผิวสะพานสูงถึง 3 ฟุต ส่วนการกั้นสองฝั่งของสะพานนั้นเพื่อกันไม่ให้น้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรทั้งฝั่งซ้าย และฝั่งขวา