พบผู้ป่วยต้องสงสัย ฝีดาษลิง รายแรก

View icon 88
วันที่ 21 ส.ค. 2567
ข่าวเย็นประเด็นร้อน
แชร์
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงพบผู้ป่วยต้องสงสัย "ฝีดาษลิง" รายแรก เป็นชาวยุโรป รอผลตรวจยืนยันสายพันธุ์แน่ชัด

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวกรณีพบผู้ป่วยฝีดาษลิงคนแรกในไทยว่า ไม่ใช่เป็นการยืนยันว่า พบผู้ป่วยฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1B แต่เป็นผู้ป่วยต้องสงสัย ฝีดาษลิง เท่านั้น โดยคาดว่า วันที่ 23 สิงหาคม นี้ จะยืนยันผลการตรวจได้ 100%

ผู้ป่วยคนดังกล่าว เป็นชาวยุโรป เพศชาย อายุ 66 ปี มาจากประเทศในแถบแอฟริกา ที่พบการระบาดของฝีดาษลิงสายพันธุ์ Clade 1B โดยมีการต่อเครื่องในประเทศแถบตะวันออกกลาง ก่อนเข้าไทย เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม เวลาประมาณ 18.00 น.

จากนั้นวันที่ 15 สิงหาคม ผู้ป่วยเริ่มมีอาการไข้ มีตุ่มขึ้นเล็กน้อย จึงเดินทางไปโรงพยาบาล เมื่อซักประวัติ พร้อมตรวจฝีดาษลิง สายพันธุ์ Clade 2 ปรากฏผลลบ ส่วนการตรวจสายพันธุ์ Clade 1B ปรากฏว่า ผลไม่ชัดเจน แต่เมื่อตรวจด้วยการใช้ยีนส์ พบว่า เป็นฝีดาษลิงอย่างแน่นอน เพียงแต่ยังแน่ชัดเรื่องสายพันธ์

นพ.ธงชัย กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันกรมควบคุมโรค มีระบบติดตาม ผู้สัมผัสหรือผู้ที่นั่งใกล้กับผู้ป่วยคนดังกล่าวบนเครื่องบิน เพื่อติดตามสอบสวนโรค ขณะนี้มีรายชื่อทั้งหมดแล้ว 43 คน มีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ต้องเฝ้าระวังติดตามอาการไปอีก 21 วัน

สำหรับสายพันธุ์ที่มีการระบาดทั่วโลก แบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ Clade 1 หรือสายพันธุ์แอฟริกากลาง ที่มีความรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิต พบระบาดในแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันออก มีอัตราการป่วยตายสูง กลุ่มเสี่ยงเป็นเด็กและผู้สูงอายุ และสายพันธุ์ Clade 2 หรือสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มีความรุนแรงน้อยกว่ามาก เป็นสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในไทย และหลายประเทศทั่วโลก

โรคฝีดาษลิง หรือ โรคฝีดาษวานร เกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในสัตว์ฟันแทะ บนทวีปแอฟริกา เชื้อไวรัสนี้แพร่เชื้อไปยังสัตว์อื่น แพร่จากสัตว์ไปสู่คนได้ มีการรายงานพบโรคนี้ครั้งแรก เกิดจากลิงในห้องทดลอง จึงเรียกว่าฝีดาษลิง ส่วนการระบาดตอนนี้ เกิดในประเทศทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรปเป็นส่วนใหญ่

โรคฝีดาษลิง แพร่กระจายได้ง่าย แบ่งออกเป็น การติดต่อจากสัตว์สู่คน สัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ติดเชื้อ ถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือข่วน กินเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อ หรือปรุงสุกไม่เพียงพอ และการติดต่อจากคนสู่คน สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยทางสารคัดหลั่ง จากผิวหนังที่เป็นตุ่มหรือละอองฝอย จากการหายใจ

ส่วนระยะฟักตัวและอาการของโรค จะอยู่ประมาณที่ 7-21 วัน โดยอาการจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ

- ระยะก่อนออกผื่น ประมาณ 0-5 วัน มีไข้, ปวดศีรษะ, ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และ มีภาวะต่อมน้ำ เหลืองโต เป็นลักษณะเด่นของโรคฝีดาษวานร คล้ายอีสุกอีใส หัด และฝีดาษ

- ระยะออกผื่น  ปกติเริ่มภายใน 1-3 วันหลังจากเริ่มมีไข้ ตุ่มผื่น ขึ้นหนาแน่นบนใบหน้า และ แขนขา มากกว่าลำตัว และ ในช่วง 2-4 สัปดาห์ต่อมาตุ่มผื่น จะขึ้นฝ่ามือฝ่าเท้า,เยื่อบุช่องปาก ,อวัยวะเพศ,เยื่อบุตา และ กระจกตา ก็ได้รับผลกระทบด้วย

การป้องกันโรคฝีดาษลิง เราควรหลีกเลี่ยงสัมผัสเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ กินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุก ล้างมือบ่อย ๆ ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยง เฝ้าระวังอาการ 21 วัน หลังกลับจาก ประเทศเขตติดโรค

นายฮันส์ คลูเก้ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคยุโรปขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า "โรคเอ็มพอกซ์" หรือชื่อเดิมว่า "ฝีดาษลิง" ไม่ใช่โรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากทางการทราบดีว่า จะควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อได้อย่างไร และต้องร่วมกันแก้ไขปัญหา ปัจจุบันมีรายงานผู้ป่วย สายพันธุ์เคลด 2 รายใหม่ประมาณ 100 ราย ในภูมิภาคยุโรปทุกเดือน

สภากาชาดไทย เปิดให้ฉีดวัคซีนฝีดาษลิง สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถป้องกันได้ 80-85% สามารถเลือกฉีดได้ 2 วิธี ดังนี้

วิธีที่ 1 ฉีดเข้าชั้นใต้ผิวหนัง ราคาเข็มละ 8,500 บาท ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน

วิธีที่ 2 ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง ราคาจุดละ 2,200 บาท ฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 28 วัน

โดยสามารถเข้ารับบริการวัคซีนได้ที่ ตึกราชูทิศ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย วันจันทร์-วันศุกร์ เวลา 08.30-12.00 น. และ เวลา 13.00-16.00 น. วันเสาร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.30-12.00 น. วันอาทิตย์ปิดทำการ