กทม. จะจมน้ำไม่เกินจริง ดร.เอ้ ชู 3 แนวทางป้องกัน

View icon 135
วันที่ 20 ส.ค. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ดร.เอ้ สุชัชวีร์ ชี้กรุงเทพฯ จะจมน้ำไม่เกินจริง ลงพื้นที่หลักหมุดที่ 28 บางขุนเทียน เสนอ 3 แนวทาง ป้องกันระยะสั้นใช้ปั๊มน้ำไฟฟ้าเดินเครื่องอัตโนมัติ ระยะกลาง สร้างแหล่งพักน้ำใต้ดิน ระยะยาว วางแผนป้องกันน้ำทะเลหนุน

วันนี้ (20 ส.ค.67) ศ. ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กทม. เดินทางลงพื้นที่หลักหมุดที่ 28 อ.บางขุนเทียน กทม. พร้อมระบุว่า เมื่อคืนวานนี้ (19 ส.ค.67)  กทม.ฝนตกหนัก น้ำท่วม น้ำระบายไม่ทัน ส่งผลข้ามมาถึงวันนี้ หลายพื้นที่ไม่สามารถสัญจรได้ ทำให้นึกถึงระดับน้ำที่หลักหมุดที่ 28 ของบางขุนเทียน กทม. ตรงนี้เคยเป็นพื้นดิน แต่น้ำทะเลทะลักเข้ามาทุกวัน จึงเสนอแนวทางป้องกันน้ำท่วมรุนแรงใน "กรุงเทพ" เป็น 3 ระยะ ดังนี้

1. “ระยะสั้น” ทำได้ทันที ใช้เครื่องปั๊มสูบน้ำไฟฟ้า ซึ่งสามารถทำงานต่อเนื่องแบบอัตโนมัติ และทำงานเองได้ทันทีเมื่อน้ำท่วม ไม่ต้องรอคนมาสตาร์ตเปิด-ปิด หรือรอให้คนมาเติมน้ำมัน และเครื่องจะหยุดทำงานเมื่อน้ำลด เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการสูบน้ำจากเดิมหลายเท่า เพื่อให้ชีวิตคนกรุงเทพดีขึ้นทันที

2. “ระยะกลาง” สร้างแหล่งพักน้ำใต้ดินบริเวณพื้นที่ที่มีน้ำท่วมรอระบายไม่มีที่ไป ระบบสูบน้ำรับไม่ไหว หรือสูบระบายไม่ทัน เช่นบริเวณ จตุจักร ลาดพร้าว หรือรามคำแหง คือ เมื่อฝนตก น้ำจะมีที่พักรอระบายใต้ดิน ก่อนสูบขึ้นเมื่อฝนหยุดตกแล้ว แบบนี้กรุงเทพก็ไม่จมน้ำ เพราะน้ำเหลือรอระบาย มีที่เก็บพักคอย สำหรับพื้นที่ก่อสร้างแหล่งพักน้ำใต้ดิน เมื่อก่อสร้างเสร็จก็สามารถคืนพื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะได้

3. “ระยะยาว” ต้องเริ่มวางแผนป้องกันน้ำทะเลหนุนด้วยการทำประตูระบายน้ำตั้งแต่วันนี้ ไม่เช่นนั้นจะสายเกินไป เพราะน้ำทะเลจะทะลักเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา คนทั่วไปเข้าใจว่าสามารถระบายน้ำออกจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ง่ายๆ  แต่ในความเป็นจริง แม่น้ำเจ้าพระยาอยู่สูงจากพื้นดิน กทม. 2-3 เมตร ถ้าป้องกันน้ำทะเลหนุนไม่ได้ก็สูบน้ำไม่ขึ้น

ดร.เอ้ ระบุด้วยว่า ด้วยปัจจัยการเกิดน้ำท่วมของ กทม.หลายอย่าง เช่น พื้นที่ กทม.ทรุดลง น้ำทะเลสูงขึ้น ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้ต้องรีบหาทางแก้ไข มิเช่นนั้น กรุงเทพฯ จมน้ำแน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง