คุณสมบัตินายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของประเทศไทย

View icon 218
วันที่ 14 ส.ค. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
หลายคำถามตามมา นายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติถอดถอนจากตำแหน่ง  และ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งองคมนตรี  มีคุณสมบัติผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ได้หรือไม่   ทั้งหมดต้องดูที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

คณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

คณะรัฐมนตรีมีความสำคัญในทางกฎหมายเพราะทำหน้าที่เป็นองค์กรฝ่ายบริหารที่มีหน้าที่บังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย นอกจากนี้ ความสำคัญของคณะรัฐมนตรีในทางการเมืองเพราะถือเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจทางการเมืองในการบริหารและบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงถือเป็นกลุ่มองค์กรที่มีอำนาจในการกำหนดการบริหารประเทศเพราะต้องดำเนินการตามแนวนโยบายแห่งรัฐและยุทธศาสตร์ตามที่ระบุไว้[

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติ องค์ประกอบ คุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของคณะรัฐมนตรี
1.1 องค์ประกอบของคณะรัฐมนตรี
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติองค์ประกอบของคณะรัฐมนตรีไว้ในมาตรา 158 “พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน” คณะรัฐมนตรีจึงมีความสำคัญเพราะถูกแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์เช่นเดียวกันกับนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวน 20 กระทรวง[2] ส่งผลให้ต้องมีรัฐมนตรีได้จำนวน 20 คน เพื่อทำหน้าที่ควบคุมบังคับบัญชางานทั้ง 20 กระทรวง

1.2 คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 160 ดังนี้

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี

(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

(4) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

(5) ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

(6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98

(7) ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษเว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท

(8) ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 186
หรือมาตรา 187 มาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดห้ามมิให้ข้าราชการและพนักงานของรัฐซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง จะเป็นข้าราชการการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นมิได้ (มาตรา 181) หมายความว่า รัฐธรรมนูญได้กำหนดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าจะต้องไม่เป็นข้าราชการและพนักงานของรัฐที่มีเงินเดือนประจำหรือข้าราชการการเมืองอื่น ๆ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ต้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในกรณีที่เข้าลักษณะตาม (1)-(18) เช่น

มาตรา 98 (12) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง
มาตรา 98 (13) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
มาตรา 98 (14) เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกินสองปี
มาตรา 98 (15) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือ เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
          ข้อสังเกต รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดคุณสมบัติในการของรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น ผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีอาจจะมาจากผู้ที่ไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เช่นเดียวกับกรณีของนายกรัฐมนตรี

          นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีเพิ่มเติมไว้ในมาตรา 112 กล่าวคือ บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินสองปี จะเป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิได้ เว้นแต่เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น