เศรษฐา ไม่รอด! ตกเก้าอี้นายกฯ

View icon 48
วันที่ 14 ส.ค. 2567
ข่าวเย็นประเด็นร้อน
แชร์
ข่าวเย็นประเด็นร้อน - เมื่อช่วง 15.00 น.ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ให้ "นายเศรษฐา ทวีสิน" พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กรณีแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เศรษฐา ไม่รอด! ตกเก้าอี้นายกฯ
เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ประชุมโดยมีวาระสำคัญคือ การพิจารณาและลงมติในคดีที่สมาชิกวุฒิสภา 40 คน ยื่นเรื่องผ่าน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เพื่อให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ หลังพบว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ ด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา สิ้นสุดลงได้

จากกรณี นายเศรษฐา นำความกราบบังคมทูล เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้ หรือควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิต ขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกา มีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

เวลา 15.00 น. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ออกนั่งบังลังก์อ่านคำวินิจฉัย และมติศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 วินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามมาตรา 170 (4) เนื่องจากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนจริยธรมร้ายแรง เมื่อนายกฯ สิ้นสุดลง รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะ ตามมาตรา 167 วรรคหนึ่ง ให้ใช้มาตรา 168 มาใช้ต่อไป

จากคำตัดสินดังกล่าว ทำให้ นายเศรษฐา ต้องหลุดจากตำแหน่งนายกฯ ซึ่งไม่ใช่แค่นายเศรษฐาคนเดียว แต่คณะรัฐมนตรีต้องสิ้นสภาพ พ้นจากตำแหน่งไปทั้งคณะด้วย คงสภาพแค่ ครม.รักษาการ โดยจะต้องเลือกรองนายกฯ คนหนึ่ง ขึ้นมารักษาการนายกฯ พร้อมกับมีอำนาจในการยุบสภา

หากเดินเกมนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องประกาศกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ภายใน 5 วัน หลังยุบสภา และจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45-60 วัน โดยผู้สมัคร สส. จะต้องสังกัดพรรคการเมืองภายใน 30 วัน

แต่ถ้า ครม.รักษาการ ไม่ได้ยุบสภา ก็จะต้องให้ที่ประชุมสภาฯ โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ ที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ต่อ กกต.เท่านั้น และการโหวตเลือกนายกฯ ไม่ต้องใช้เสียง สว.อีกต่อไป เพราะบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงไปแล้ว

ซึ่งจะเหลือแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง 5 คน ที่สามารถเสนอชื่อชิงเก้าอี้นายกฯ ได้ คือ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, นายชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย, นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย, พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ

หรือถ้าเป็นกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ระบุว่า นายเศรษฐา ยังสามารถกลับมาเป็นแคนดิเดตนายกฯได้ ก็จะมีชื่อ นายเศรษฐา กลับมาร่วมชิงนายกฯ ด้วย หรืออาจจะมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาร่วมชิงชัยด้วย หากได้เข้าร่วมรัฐบาล

เปิดชื่อ 9 ตุลาการวินิจฉัยคดี เศรษฐา
สำหรับรายชื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคดีนายเศรษฐา ประกอบด้วย นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, นายปัญญา อุดชาชน, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม, นายวิรุฬห์ แสงเทียน, นายจิรนิติ หะวานนท์, นายนภดล เทพพิทักษ์, นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์, นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ

สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก 5 คน ที่ให้ นายเศรษฐา พ้นจากตำแหน่งนายกฯ ประกอบด้วย นายปัญญา อุชชาชน, นายอุดม สิทธิวอรัชธรรม, นายวิรุฬห์ แสงเทียน, นายจิรนิติ หะวานนท์ และนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์

ส่วน 4 เสียงข้างน้อยที่ไม่ให้นายเศรษฐา พ้นจากนายกรัฐมนตรี คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, นายนภดล เทพพิทักษ์, นายอุดม รัฐอมฤต, นายสุเมธ รอยกุลเจริญ