16 – 22 ส.ค. 67 เฝ้าระวัง เตือนท่วมฉับพลัน

View icon 84
วันที่ 14 ส.ค. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ปภ. แจ้งสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติและพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลเตรียมรับมือน้ำท่วม พร้อมเตือน 23 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน และกลาง เฝ้าระวังท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่ม ในช่วงวันที่ 16 – 22 ส.ค. 67

วันนี้ (14 ส.ค. 67) เวลา 13.30 น. กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. แจ้ง 23 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เฝ้าระวังสถานการณ์ท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินถล่ม ในช่วงวันที่ 16 – 22 ส.ค. 67 กำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำ ปริมาณฝน และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดทีมปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัย อย่างเคร่งครัด

66bc5e17758434.56986745.jpg

แยกเป็นพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม

ภาคเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก  พิษณุโลก และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู อุดรธานี สกลนครและนครพนม

ภาคกลาง 4 จังหวัด ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด

พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ในบริเวณพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง พะเยา น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ อุบลราชธานี นครนายก ปราจีนบุรี ตราด และอ่างเก็บน้ำที่มีสถิติปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่าความจุเก็บกักที่มีความเสี่ยงน้ำล้นอ่างฯ และส่งผลกระทบให้น้ำท่วมบริเวณด้านท้ายน้ำ

พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของลำน้ำงาว (เชียงราย อำเภอเวียงแก่น) แม่น้ำสาย (เชียงราย อำเภอแม่สาย) ลำน้ำปาย (แม่ฮ่องสอน อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอปางมะผ้า อำเภอปาย) แม่น้ำลาว (เชียงราย อำเภอเทิง พะเยา อำเภอเชียงคำ อำเภอภูซาง) แม่น้ำน่าน (น่าน อำเภอเมืองน่าน อำเภอเวียงสา อำเภอเชียงกลาง อำเภอภูเพียง อำเภอท่าวังผา) แม่น้ำยม  (พะเยา อำเภอปง อำเภอเชียงม่วน แพร่ อำเภอสอง อำเภอหนองม่วงไข่ พิษณุโลก อำเภอบางระกำ) แม่น้ำแควน้อย (พิษณุโลก อำเภอนครไทย) แม่น้ำป่าสัก (เพชรบูรณ์ อำเภอหล่มสัก อำเภอหนองไผ่) ลำน้ำก่ำ (นครพนม อำเภอเรณูนคร) และแม่น้ำตราด (ตราด อำเภอเมืองตราด อำเภอเขาสมิง อำเภอบ่อไร่)

นอกจากนี้ ได้ประสานทุกจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัยในสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติและพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง กำหนดมาตรการเฝ้าระวัง แจ้งเตือน ปิดกั้น และห้ามนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ที่กำหนดในช่วงที่สถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรง ประสานผู้ประกอบการโรงแรมในพื้นที่ชายทะเลให้แสดงธงสัญลักษณ์ห้ามลงเล่นน้ำและแจ้งนักท่องเที่ยวให้เล่นน้ำด้วยความระมัดระวัง พร้อมประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการห้ามเดินเรือในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเด็ดขาด รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบถึงสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นและปฏิบัติตามข้อแนะนำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด