จับแล้วนายทุนเงินกู้ เหตุครูรมควันตาย

View icon 65
วันที่ 9 ส.ค. 2567
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองนครพนม รวบตัวนายทุนเงินกู้นอกระบบ ซึ่งเป็นผู้ติดต่อครูนก เป็นคนสุดท้ายก่อนที่ครูจะคิดสั้น รมควันตาย ผู้ต้องหาอ้างปล่อยเงินกู้เพียงคนเดียว ไม่ซัดทอดใคร   

จับแล้วนายทุนเงินกู้ เหตุครูรมควันตาย
ในที่สุด เจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถรวบตัวแก๊งเงินกู้นอกระบบ คือ นายสัมฤทธิ์ อายุ 35 ปี ชาวจังหวัดนครราชสีมา ได้คาห้องพัก ซึ่งนายสัมฤทธิ์ ไปเปิดเช่าไว้เพื่อทำกิจการปล่อยเงินกู้ให้ชาวบ้านใน จังหวัดนครพนม ปรากฎว่า นายสัมฤทธิ์ ไม่ยอมเปิดปากซัดทอดไปถึงนายทุนใหญ่ รับสารภาพว่า ตนปล่อยเงินกู้เพียงคนเดียว ไม่มีใครร่วมขบวนการ

ตำรวจพบว่า นายสัมฤทธิ์ คือ เจ้าหนี้คนสุดท้ายที่ติดต่อกับผู้ตาย คือ นางสาวธัญญาลักษณ์ หรือ ครูนก กระทั่งไปก่อเหตุรมควันฆ่าตัวตาย เชื่อว่า ครูนกถูกข่มขู่กดดันจนเครียด ในวันเกิดเหตุสามีผู้ตายได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังนายทุนให้มาดูศพ พร้อมต่อว่า เป็นต้นเหตุให้ภรรยาฆ่าตัวตาย  

ผู้ต้องหาเผย จริงแล้ว ครูนก จัดเป็นลูกหนี้ชั้นดี กู้เงิน 40,000 บาท ส่งดอกและต้นรายวัน ๆ ละ 1,000 บาท อาจจะมีจ่ายช้าบ้างแต่ก็ไม่เบี้ยว และที่ผ่านมาตนไม่เคยทำร้ายครูนก ก็แค่ทวงให้ส่งค่างวด ส่วนจะมีเจ้าหนี้รายอื่นอีกหรือไม่ ตนไม่รู้ข้อมูล 

ตำรวจแจ้งข้อหา นายสัมฤทธิ์ ปล่อยเงินกู้และทวงหนี้ผิดกฎหมาย เก็บดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พบว่าแก๊งมาเฟียเงินกู้จะมาจากต่างถิ่น ตระเวนโปรยนามบัตรหาลูกค้าปล่อยเครดิตให้กู้ครั้งละ 3,000-5,000 บาท เก็บดอกเบี้ยร้อยละ 10-20 คิดเป็นรายวัน โดยรวมเงินต้นและดอกเบี้ยล่วงหน้า แล้วแบ่งจ่ายรายวันจนครบต้นครบดอก แต่ถ้าภายใน 15 วัน ไม่สามารถชำระได้ ดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยจะมีกลุ่มสีกากีนอกรีต อยู่เบื้องหลังช่วยดูแล พอเกิดเหตุลูกหนี้ถูกข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย ก็จะไม่ค่อยกล้าแจ้งความ เพราะเป็นความยินยอม 

ข้อมูลจากศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครพนม ระบุ ตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบัน มีลูกหนี้เข้าโครงการขอให้ช่วยเหลือ 268 คน เจ้าหนี้ 377 คน มูลหนี้รวมกว่า 48 ล้านบาท โดยทางศูนย์ฯ ได้ช่วยไกล่เกลี่ยเจ้าหนี้สำเร็จไปแล้ว 340 คน ดำเนินคดี 10 คน ที่เหลือกำลังเร่งดำเนินการ

พลตำรวจตรี นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือตำรวจไซเบอร์ เผยภาพรวมสถิติคดีอาชญากรรมออนไลน์ ตั้งแต่ที่มีการเปิดรับแจ้งความถึงปัจจุบัน

มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความคดีออนไลน์กว่า 610,000 คดี ความเสียหายเกือบ 70,000 ล้านบาท เฉพาะนี้ แต่ละเดือนจะมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความประมาณ 1,100 คดี ความเสียหายเฉลี่ย 111 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณเดือนละกว่า 3,000 ล้านบาท

คนไทยหวงข้อมูล ยอดร้องเรียนลด
ด้าน สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า โดยศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ จัดงาน Pitching Day ตัดสินผลงานโครงการจุดประกายความคิด พิชิตภัยไซเบอร์ ล่าสุด นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการเอ็ตด้า เผยโครงการนี้ช่วยให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเองได้เป็นอย่างดี ที่ผ่านมาภัยคุกคามทางออนไลน์มีทุกวัน แต่ประชาชนเริ่มระวังตัวมากขึ้น ก่อนที่จะให้ข้อมูลส่วนบุคคลหรือทำธุรกรรมทางการเงิน ทำให้การโทรศัพท์ร้องเรียนลดลง