สภาทนายความ จ่อฟ้องรัฐ-เอกชน ทำปลาหมอคางดำแพร่ระบาด รับเจรจา มท. ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน

View icon 100
วันที่ 31 ก.ค. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
สภาทนายความ จ่อฟ้องรัฐ-เอกชน ทำปลาหมอคางดำแพร่ระบาด เรียกค่าเสียหายให้ชาวประมง และเรียกค่าเสียหายทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย พร้อมรับเจรจา มท. ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน

วันนี้ (31 ก.ค. 67) ที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ นายวิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ พร้อมด้วย นายสัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ, นายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการสภาทนายความ และ ว่าที่ร้อยตรี สมชาย อามีน ประธานอนุกรรมการสิ่งแวดล้อมฝ่ายคดีและปฏิบัติการ และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าว เตรียมยื่นฟ้องหน่วยงานภาครัฐและเอกชน กรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ

นายวิเชียร นายกสภาทนายความ เปิดเผยว่า ตามที่สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ได้รับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้านในตำบลยี่สาร ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงครามว่า ได้รับความเสียหายจากการระบาดของปลาหมอคางดำที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติ และในพื้นที่บ่อเลี้ยงกุ้งและบ่อเลี้ยงปลาของชาวบ้าน หลังรับเรื่องทางสภาทนายความได้ตั้งประธานสภาทนายความจังหวัด รวม 16 จังหวัด เป็นผู้แทนของสภาทนายความ เพื่อร่วมประชุมกับส่วนราชการ กำหนดวิธีแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน ต่อมา มีชาวบ้านในจังหวัดอื่น ๆ ได้ยื่นขอความช่วยเหลือทางกฎหมายเข้ามาเพิ่มเติม
 
จากการสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานสภาทนายความ พบว่าปลาหมอคางดำซึ่งเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่ได้รับอนุญาตจากกรมประมงให้นำเข้า เพื่อทดลองศึกษาวิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์น้ำ โดยมีผู้ประกอบการแห่งหนึ่งเป็นผู้ขออนุญาตนำเข้าและมีการนำเข้ามาศึกษาทดลองเลี้ยงในปี 2553 ที่ศูนย์วิจัยเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของบริษัทผู้ประกอบการแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสงคราม และพบการระบาดของปลาหมอคางดำในปี 2560 เป็นต้นมา โดยเริ่มระบาดครั้งแรกที่ ต.ยี่สาร ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ซึ่งจากการศึกษาพบว่าสายพันธุ์การระบาดของปลาหมอคางดำมาจากจุดร่วมสายพันธุ์เดียวกัน

ด้าน ว่าที่ร้อยตรี สมชาย กล่าวว่า คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมสภาทนายความและคณะกรรมการสำนักงานคดีปกครอง จึงกำหนดแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายในสองแนวทาง คือ การดำเนินคดีแพ่งกับผู้ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทย โดยดำเนินคดีแบบกลุ่ม เรียกค่าเสียหายจากการขาดรายได้ของชาวประมง และเรียกค่าเสียหายจากการที่ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ตามหลัก “ผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็น ผู้จ่าย”
         
และการดำเนินคดีปกครองกับหน่วยงานอนุญาตที่ละเลย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำเป็นการทำละเมิดทางปกครอง และให้หน่วยงานอนุญาตขจัดการแพร่ระบาดและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไป โดยให้เรียกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจากผู้ก่อให้เกิดการระบาดของปลาหมอคางดำ รวมทั้งค่าเสียหายจากการที่ต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ

ขณะที่ นายวิเชียร นายกสภาทนายความ กล่าวย้ำว่า  เราจะยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหาย บางคดีศาลแพ่งอาจจะสั่งชดใช้ค่าเสียหายเยอะ บางคดีก็ให้ชดใช้ค่าเสียหายไม่มากนัก อยู่ที่ดุลยพินิจของศาล แต่เราสามารถใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ ส่วนการยื่นฟ้องศาลปกครองนั้น จะมุ่งฟ้องหน่วยงานรัฐก่อน คาดว่าจะยื่นฟ้องไม่เกินวันที่ 16 ส.ค.นี้ นอกจากนี้กรณีที่ชาวบ้านผู้เสียหายเกรงว่าการฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายจะล่าช้า ต้องการให้พูดคุยกระทรวงมหาดไทย เพื่อออกประกาศให้ปัญหา "ปลาหมอคางดำ" เป็นภัยพิบัติแห่งชาติและเบิกงบประมาณมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ก่อนนั้น ตนรับปากว่าจะเป็นคนกลางไปเจรจาหารือกับทางกระทรวงมหาดไทยให้ชาวบ้านด้วย