ทั่วโลกยินดี ภูพระบาท เป็นมรดกโลก

View icon 111
วันที่ 28 ก.ค. 2567
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์
แชร์
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - คนไทยได้เฮ ! หลังรอกันมานานกว่า 20 ปี หลังองค์การยูเนสโก ประกาศขึ้นทะเบียน "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ซึ่งจะเปิดให้ขึ้นชมฟรี ตั้งแต่วันนี้ (28 ก.ค.) ถึง 12 สิงหาคมนี้

ทั่วโลกยินดี ภูพระบาท เป็นมรดกโลก
นี่เป็นวินาทีประวัติศาสตร์ ที่องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ "ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี" ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งถือเป็นมรดกโลกลำดับที่ 8 และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของ จังหวัดอุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก เมื่อ พ.ศ.2535  หลังจากยื่นขอขึ้นทะเบียน ตั้งแต่ 2547 

ขึ้นทะเบียน ภูพระบาท มรดกโลกทางวัฒนธรรม
การประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 นี้มีนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว หัวหน้าคณะผู้แทนไทย เป็นตัวแทนเข้าร่วม ซึ่งประธานการประชุมได้กล่าวแสดงความยินดีเป็นภาษาไทย และผู้แทนรัฐภาคี สมาชิกประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมแสดงความยินดีกับคณะผู้แทนไทย

สำหรับอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท พิจารณาภายใต้คุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากล ได้แก่ การรักษาความเป็นของแท้ และดั้งเดิมของแหล่งวัฒนธรรม สีมาหินสมัยทวารวดี และเป็นประจักษ์พยานที่ยอดเยี่ยม ต่อการสืบทอดของวัฒนธรรม ที่มีมาต่อเนื่องอย่างยาวนานกว่า 4 ศตวรรษ ซึ่งหลังการขึ้นทะเบียน รัฐบาลจะเปิดให้เข้าชมฟรี ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม - 12 สิงหาคมนี้ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวว่า นี่ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ

นายกรัฐมนตรี ขอบคุณกรรมการมรดกโลก
ขณะที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณคณะกรรมการมรดกโลก ศูนย์มรดกโลก และองค์กรที่ปรึกษา ที่พิจารณาขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลก การขึ้นทะเบียนภูพระบาทเป็นมรดกโลก ไทยจะได้นำมาต่อยอดด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งส่งเสริมด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปกป้องแหล่งมรดกโลกในทุกระดับตลอดจนดำเนินการยกระดับการมีส่วนร่วมในการวิจัยทางวิชาการเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติอีกทางหนึ่งด้วย