เหตุผลลาออกจากงาน สู่การดำเนินคดี

View icon 177
วันที่ 19 ก.ค. 2567
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - สาวโพสต์ เขียนเหตุผลลาออก "หัวหน้างานไม่ค่อยมีวุฒิภาวะ" ด้านหัวหน้าขอส่งเรื่องให้ฝ่ายกฏหมายจัดการ

สาวโพสต์ถามในกลุ่มหางาน "ปกติเขียนเหตุผลในการลาออก กันอย่างไร พอดีลองเขียนความในใจไป หัวหน้าจะฟ้องฝ่ายกฎหมาย แบบนี้เขาฟ้องเราได้ไหม" พร้อมภาพถ่ายใบลาออก ระบุเหตุผลว่า "สังคมงาน TOXIC หัวหน้างานไม่ค่อยมีวุฒิภาวะ ทำงานหนัก ไม่มีวันหยุดพักผ่อน"

 เรื่องนี้ไม่จบง่าย ๆ เมื่อหัวหน้างานทราบเรื่อง รีบส่งข้อความหา บอกว่า "พี่ไม่มีวุฒิภาวะ เราคงไม่ต้องคุยกันแล้วนะ" "พูดไม่เป็นความจริง ขอส่งให้ฝ่ายกฎหมายของบริษัท"

ทีมข่าวได้คุยกับสาวที่ลาออก เล่าว่า แจ้งลาออกกับฝ่ายบุคคลตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม แต่เพิ่งเข้าไปเขียนใบลาออก วันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา สาเหตุที่ลาออก เพราะต้องทำงานทุกวันแบบไม่มีวันหยุด แจ้งลาป่วย หัวหน้างาน ก็หาว่า ไม่มีมารยาท อดทนมาหลายเดือน จึงตัดสินใจลาออก ส่วนที่เขียนเหตุผลลาออก ถามย้ำ ฝ่ายบุคคลแล้ว ว่า สามารถเขียนได้ตามความจริงหรือ พอฝ่ายบุคคลบอกว่าได้ จึงเขียนไปแบบนั้น

ชาวเน็ตแซวกันฉ่ำ ๆ เชื่อแล้วว่า หัวหน้างานไม่มีวุฒิภาวะจริง บางความเห็น บอกว่า ปกติที่ลาออกจะเป็นการให้ข้อมูล นำไปพัฒนาการทำงานในองค์กร แต่งานนี้ดูเหมือนว่า หัวหน้าจะรับไม่ได้ บางคนยังตั้งคำถามว่า กรณีฟ้องได้จริงหรือไม่?

เรื่องนี้ นายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองโฆษกสภาทนายความ ช่วยไขข้อข้องใจ จากข้อความที่ระบุเหตุผลของการลาออก ยังไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาท เช่นคำว่า "หัวหน้างานไม่ค่อยมีวุฒิภาวะ" หมายความว่ายังไม่ฟังธง เพราะใช้คำว่าไม่ค่อย หากนายจ้างจะฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ก็สามารถทำได้ตามสิทธิ แต่ทางลูกจ้าง ก็มีข้อต่อสู้เช่นเดียวกัน

ส่วนกรณี นำใบลาออกมาโพสต์ ยังไม่พบความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อบริษัท หรือบุคลากรของบริษัท