ธรรมนัสสั่งกรมประมงสอบคู่ขนาน ต้นตอปลาหมอคางดำระบาด

View icon 103
วันที่ 16 ก.ค. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ปลาหมอคางดำ ธรรมนัสย้ำมาตรการเร่งด่วนคือกำจัด รับซื้อ กก.ละ 15 บาท สั่งกรมประมงสอบสวนคู่ขนานกับ กมธ.อว. หาตัวผู้รับผิด ต้นตอระบาด

วันนี้ (16 ก.ค.67) เวลา 16.00 น. ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สังเกตการณ์การประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ หลังพบการระบาดใน 16 จังหวัด โดยร้อยเอกธรรมนัสยืนยันกับตัวแทนผู้ประกอบการและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ว่ามีแหล่งเงินจากกองทุนสวนยางฯ ที่จะนำมาใช้รับซื้อปลาหมอคางดำ ในราคากิโลกรัมละ 15 บาท โดยจะเป็นการเปิดรับซื้อเรื่อย ๆ เพื่อนำไปทำปุ๋ย  พร้อมกำชับให้ประมงจังหวัดวางแผนตั้งจุดรับซื้อ จุดขนส่ง เพราะถ้าไกลเกินไปค่าเดินทางอาจไม่คุ้ม นอกจากนี้ กรมประมงจะต้องให้ความรู้ในการกำจัดปลาหมอคางดำด้วย เพราะปลาพันธุ์นี้อมไข่ไว้ในปาก ไม่ใช่รับซื้อแล้วหลุดไปแพร่ระบาดในขั้นตอนการแปรรูปเป็นปุ๋ยหรือผลิตเป็นปลาร้า

ร้อยเอกธรรมนัส เห็นด้วยกับข้อกังวลของเอ็นจีโอ ที่ว่าการตั้งกรรมการสอบสวนหาต้นตอการระบาดของปลาหมอคางดำ ของคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กมธ.อว.) อาจจะเป็นเสือกระดาษ ดังนั้นกรมประมงควรดำเนินการตรวจสอบคู่ขนาน

“ผมได้ให้นโยบายไปแล้ว ว่าต้องพิสูจน์ทราบให้ได้ว่า บริษัทเอกชนเป็นต้นตอทำให้ระบาดหรือไม่ ถ้าได้ข้อมูลชัดเจนไม่ปล่อยไว้แน่นอน ส่วนประเด็นที่ระบุว่ามีการมอบซากปลาหมอคางดำ 2 โหล โหลละ 25 ตัว ส่งกรมประมงแล้ว ก็ต้องตรวจสอบให้ชัด ถ้าไม่มีก็ต้องตอบสังคมให้ชัดเจน อย่าปล่อยให้องค์กรตกเป็นจำเลยสังคม” รมว.เกษตรฯ กำชับ

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ชี้แจงว่า ประเด็นที่ว่า บริษัทเอกชนได้นำส่งตัวอย่างปลาหมอคางดำหรือไม่นั้น กรมประมง มีสมุดคลุมว่ารับแหล่งตัวอย่างปลามาจากไหน ซึ่งตรวจสอบทั้งหมดแล้ว ต้นเดือน ม.ค. 2554 ไม่พบการนำส่งปลาหมอคางดำในระบบ ยืนยันว่าการบันทึกข้อมูลในสมุดคลุม คล้ายบันทึการใช้รถยนต์หลวง ซึ่งจะบันทึกเรียงไปตามวันที่ ไม่มีการข้าม นอกจากนี้ ยังได้ตรวจสอบระบบดีเอ็นเอ หรือยีนแบงก์ของกรมประมง ซึ่ไม่พบการนำส่งเช่นกัน

ภายหลังการประชุม นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้สำนักงานประมงทั้ง 16 จังหวัด ไปทำการบ้าน เพราะแต่ละจังหวัดมีสภาพพื้นที่และอุปสรรคแตกต่างกัน ขณะที่เกษตรกรเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรับซื้อปลาหมอคางดำ  ขอเวลา 1 สัปดาห์จัดเตรียมงบประมาณในการรับซื้อ แต่ต้องไม่ใช่การนำปลาหมอคางดำไปเลี้ยงเพื่อนำมาขายให้จุดรับซื้อของกรมประมง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในการประชุมมีข้อถกเถียงอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะการรับซื้อปลาหมอคางดำ กก.ละ 15 บาท จะเริ่มได้ตั้งแต่เมื่อไร รวมถึงประเด็นการปล่อยปลานักล่า เช่น อำเภอดำเนินสะดวกไม่เคยมีปลากระพง และเป็นพื้นที่เกษตรที่มีการใช้สารเคมี ปลากระพงไม่สามารถอยู่ในแหล่งน้ำได้ ซึ่งในประเด็นนี้ผู้แทนจากกรมประมง ยืนยันว่า ปลานักล่ามีหลายพันธุ์ ในแต่ละพื้นที่ประมงจังหวัดจะให้ความเห็นว่า ควรปล่อยปลานักล่าชนิดใด ซึ่งขึ้นอยู่กับระบบนิเวศ และแหล่งน้ำ พร้อมยืนยันว่า การกำจัดปลาหมอคางดำเป็นมาตรการเร่งด่วน ต้องใช้กลไกหลายวิธี การปล่อยปลานักล่าลงไปเพื่อกินลูกปลาหมอคางดำ ซึ่งไม่มีเครื่องมือใดจะสามารถจับลูกปลาได้ทั้งหมด ส่วนปลาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ปลาหมอคางดำ ยังต้องใช้คนล่าจับ