เปิดผ้าแมวลายโคราชโมโนแกรม และ ผ้าไหมมัดหมี่หางกระรอกประยุกต์สีทอง ต้อนรับครม.สัญจร 1-2 ก.ค.นี้

View icon 166
วันที่ 29 มิ.ย. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“โคราช” จัดเต็มต้อนรับ ครม.สัญจร สัปดาห์หน้า โชว์พลังซอฟต์พาวเวอร์ จัดผ้าไหมมัดหมี่หางกระรอกประยุกต์สีทอง และ ผ้าลายแมวโคราชโมโนแกรมไว้รอ

วันนี้ (29 มิ.ย.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมนำทีมคณะรัฐมนตรีสวมใส่ผ้าไหมพื้นเรียบสีทองและผ้าไหมมัดหมี่หางกระรอกประยุกต์สีทอง ร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2567 หรือ ครม. สัญจร ณ จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 1-2 ก.ค.67

จังหวัดนครราชสีมา มีนโยบายในการพัฒนาและส่งเสริมให้ใช้ผ้าลายเอกลักษณ์ประจำจังหวัดนครราชสีมา จึงได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเพื่อค้นหาภูมิปัญญาผ้าทอพื้นถิ่นของจังหวัดนครราชสีมา ที่สามารถสื่อถึงเอกลักษณ์ของจังหวัด จนมีมติให้ “ผ้าหางกระรอก” เป็นผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดนครราชสีมา โดยผ้าไหมพื้นเรียบสีทองและผ้าไหมมัดหมี่หางกระรอกประยุกต์สีทอง ทอโดยอำเภอปักธงชัย สำหรับให้คณะรัฐมนตรีสวมใส่ ส่วนผ้าไหมมัดหมี่หางกระรอกสีชมพูกะปิ สำหรับผู้เข้าร่วมประชุม ครม. สวมใส่ ทอโดยกลุ่มทอผ้าไหมบ้านแฝกโนนสาราญ อำเภอสีดา

ทั้งนี้ ลายหางกระรอก เป็นลวดลายเรียบง่าย แต่แฝงด้วยความประณีตและงดงาม ใช้เทคนิคการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าไท คือ "การควบเส้น" ที่นำเส้นพุ่งพิเศษ 2 เส้น 2 สี มาตีเกลียวควบเข้าด้วยกัน ให้เป็นเส้นเดียว ที่เรียกว่า เส้นลูกลาย หรือเส้นหางกระรอก ทอด้วยความชำนาญของแต่ละพื้นที่ ผ้าที่ได้จะมีลักษณะลวดลายเล็กๆ ในตัวมีสีเหลือบมันวาวระยับดูคล้ายเส้นขนของหางกระรอก ตามคำขวัญเดิมของจังหวัดที่ว่า "นกเขาคารม อ้อยคันร่ม ส้มขี้ม้า ผ้าหางกระรอกดอกสายทอง แมวสีสวาท"

ส่วนในเย็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2567 ช่วงงานเลี้ยงรับรอง นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี จะร่วมสวมใส่เสื้อแขนสั้นลำลองลายโคราชโมโนแกรม (KORAT Monogram) ที่ถือเป็น 1 ใน soft power ของจังหวัด ซึ่งลวดลายโคราชโมโนแกรมนี้สื่อถึงจังหวัดนครราชสีมา โดยมีรูปแมวโคราช (Korat Cat) สัตว์ประจำจังหวัดนครราชสีมา รูปส่วนด้านบนของแปลนผังพื้นอนุสาวรีย์ย่าโม หันทางทิศตะวันตก (On the Top) ผัดหมี่โคราช (Recommended Menu) ปราสาทหินพิมาย (Ancient) ประตูชุมพล (Twain) และดอกสาธร ดอกไม้ประจำ ประกอบรวมกันเป็นคำว่า โคราช ในภาษาอังกฤษ (KORAT) ซึ่งประชาชนที่สนใจสามารถเข้าไปชมลวดลาย KORAT Monogram ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก KORAT Monogram ได้ทีนี่ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง