รถยนต์ไฟฟ้า ดร.เอ้ ถามไทยตกขบวนอุตสาหกรรมไฮเทคไปแล้วหรือยัง

View icon 142
วันที่ 23 มิ.ย. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
รถยนต์ไฟฟ้า ดร.เอ้ ถามไทยตกขบวนอุตสาหกรรมไฮเทคไปแล้วหรือยัง โอกาสรอดของไทย ต้องพัฒนาคนสร้างทักษะระดับสูง มากกว่าการท่องจำเพียงอย่างเดียว ในวันที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับจัดสรรงบกว่า 3 แสนล้านบาท มากเป็นอันดับ 2 (งบปี 2567) แต่กว่า 70 % คือเงินเดือนของข้าราชการ

วันนี้ (23 มิ.ย.67) ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ตั้งคำถาม ไทยตกขบวนอุตสาหกรรมไฮเทคไปแล้วหรือยัง? โดยระบุว่า ในอดีต ทุกครั้งที่มีการพูดถึงภาคอุตสาหกรรมของไทย เราจะภูมิใจกับคำว่า “ดีทรอยต์ ออฟ เอเชีย” แม้กระทั่งในการจัดทำงบประมาณปี 2568 นายกรัฐมนตรียังยกอุตสาหกรรมยานยนต์ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ผิดที่จะบอกว่าไทยมีจุดเด่นในเรื่องฐานการผลิตรถยนต์มานานหลายสิบปี จนกลายเป็น "มายาคติ" ว่าเราประสบความสำเร็จในอุตสาหกรรมแล้ว รัฐบาลต่อ ๆ มา ก็เพียงแค่พัฒนาต่อยอด “ดีทรอยต์ ออฟ เอเชีย” นี้ก็พอ

แต่ถ้าย้อนดูที่มาที่ทำให้ไทยกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญนั้น เป็นเพราะ“ข้อตกลงพลาซ่า”ในปี 1985 ที่สหรัฐฯต้องการแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าของตนกับญี่ปุ่นและเยอรมัน ด้วยการบีบให้ค่าเงินเยนและมาร์กสูงขึ้น ขณะที่ค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐฯต่ำลง เพื่อให้สินค้าขายได้มากขึ้น ข้อตกลงพลาซ่านี้ ส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องย้ายฐานการผลิตมายังประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่เป็นดาวเด่นของญี่ปุ่นในยุค 80 ซึ่งไทยก็ได้อานิสงส์จากข้อตกลงนี้จนกลายเป็นฝันหวานที่จะเป็นดีทรอยต์ ออฟ เอเชีย มาทุกยุคทุกรัฐบาลจนถึงปัจจุบัน

ดร.เอ้ ระบุด้วยว่า กว่า 30 ปีที่ผ่านมา ไทยไม่ได้มีพัฒนา "นวัตกรรม" ทางอุตสาหกรรมรถยนต์มากไปกว่าการเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกเลย  และยังเป็นฝันหวานที่กล่อมให้ทุกรัฐบาลนอนหลับสบาย โดยไม่กังวล ว่าอุตสาหกรรมไทยได้ติดหล่มอยู่กับการผลิตในเทคโนโลยีระดับกลางมานานแล้ว ตื่นมาอีกที ก็เห็นภาพของประเทศเพื่อนบ้านของไทยได้รับเลือกเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมระดับสูง อย่าง มาเลเซีย ที่วันนี้มีสัดส่วนประกอบชิปที่ 13% ของโลก และเป็นผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก ซึ่งอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของมาเลเซียทึ่มีอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้นที่ 7% โดยมีเป้าหมายไปถึงมูลค่า 46,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2571

สาเหตุหลักที่ทำให้มาเลเซียกลายมาเป็นศูนย์กลางการผลิตชิปได้ขนาดนี้ คือ "วิสัยทัศน์ของผู้นำ" ประเทศที่มองไกล เห็นอนาคตของเทคโนโลยีนี้มาตั้งแต่ยุค 70 และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาบุคลากรรองรับ และแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อเอื้อให้เกิดการลงทุน มาเลเซียกำลังก้าวสู่การเป็นประเทศโลกที่หนึ่ง ประเทศพัฒนาแล้ว คุณภาพชีวิตพลเมืองดี ขจัดความยากจน ดูแลลูกหลานได้

ขณะที่ ประเทศไทยตกขบวนอุตสาหกรรมไฮเทคไปแล้วหรือยัง วันนี้ ไทยอาจจะไม่ใช่เป้าหมายของการลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทค เหมือนที่มาเลเซียได้รับ แต่ไม่ใช่ว่าโอกาสของไทยจะหมดไปอย่างสิ้นเชิง ไทยมีพื้นฐานที่ดีในเรื่องของการผลิตรถยนต์ มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญ ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก การปรับฐานไปสู่การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ในแบบอื่นในอนาคต ไม่ใช่เรื่องยาก แต่รัฐบาลต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน หัวใจของรถยนต์ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ไฮเทคอื่นใดก็ตาม คือ ชิป ที่แม้ไทยจะตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอยู่ แต่ถ้าไทยสามารถปรับฐานการผลิตรถยนต์แบบสันดาปที่แข็งแกร่งมาเป็นฐานการผลิต "รถไฟฟ้าไฮเทค" ที่ต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผล โอกาสในการลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทคอย่างการผลิต ชิป ก็เป็นไปได้  เพราะในอนาคต ด้วยนโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ทำให้จีนต้องสร้างเทคโนโลยีในการผลิตชิปของตัวเองทั้งหมด และจะสะดวกกว่าถ้าใช้ฐานการผลิตเดียวกับฐานการผลิตรถไฟฟ้า

แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้ ไทยต้องเตรียม โครงสร้างพื้นฐาน รองรับให้เพียงพอ โดยเฉพาะด้านการศึกษา เพื่อพัฒนาบุคลากรที่รองรับงานระดับไฮเทคได้ แล้วเราจะไปได้ไหม  นี่จะเป็นอีกคำถามที่สำคัญ ในวันที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับจัดสรรงบกว่า 3 แสนล้านบาท มากเป็นอันดับ 2 (งบปี 2567) แต่กว่า 70 % คือเงินเดือนของข้าราชการ

ขณะที่รายงานประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ด้านการคิดสร้างสรรค์ นักเรียนไทยรั้ง "อันดับที่ 54 จาก 64 ประเทศ "ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD และอยู่ค่อนไปทางท้ายตาราง ขณะที่อันดับ 1 คือสิงคโปร์ แล้วเราจะพัฒนาบุคลากรอย่างไรให้รองรับอนาคตที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงที่ต้องใช้ทักษะมากกว่าการท่องจำเพียงอย่างเดียว

ดร.เอ้ ทิ้งท้ายว่า หากสรุป "เส้นทางเดียว" เท่านั้น โอกาสรอดของไทย คือ ต้องเริ่มจาก การ "พัฒนาคน" สร้าง "ทักษะระดับสูง" ไปสร้าง "อุตสาหกรรมมูลค่าสูง" ที่แข่งขันได้ ก็เริ่มเถอะ เหนื่อยหน่อย แต่เราทำได้ เพราะผมยังเชื่อมั่น คนไทยเก่งไม่แพ้ชาติใดในโลก