ฟ้อง 3 หน่วยงาน อายัดรถหรู เพียงแค่เริ่มต้น

View icon 78
วันที่ 21 มิ.ย. 2567
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - ผู้เสียหายที่ซื้อรถลัมบอร์กีนีราคาคันละ 20 ล้านบาท แล้วถูกคำสั่งอายัดคดีพิเศษ จนขายต่อให้ใครก็ไม่ได้ ที่ตัดสินใจไปยื่นฟ้อง 3 หน่วยงาน ให้ร่วมกันชดใช้เงิน 49 ล้านบาท นี่อาจเป็นเพียงภาพตัวอย่างแรกของอีกไม่น้อยกว่า 30 คดี ที่กำลังจะตามมา หากผู้เสียหายคนอื่น ๆ ตัดสินใจยื่นฟ้องแบบนี้เหมือนกัน

นายกฤต วงศ์ท่าหลวง ทนายความ รับมอบอำนาจจากลูกความ เจ้าของรถลัมบอร์กีนี ที่เมื่อวานไปยื่นฟ้องศาลแพ่งเอาผิดกับจำเลย 9 คน ที่มาจาก 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมศุลกากร, กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI และสำนักงานอัยการสูงสุด

บอกเรื่องนี้กับทีมข่าวย้ำอีกครั้ง ว่าผู้เสียหายที่รวมกลุ่มกันต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม เพราะอยากได้รถในฝันมาขับ และไม่มีใครรู้มาก่อนว่ารถที่ตนเองซื้อมาเป็นรถที่ยังไม่พ้นปัญหาจากคดีพิเศษ

เพราะผู้เสียหายหลายคนที่รวมตัวกันอยู่ในกลุ่มไลน์ที่มีจำนวนกว่า 120 คน ซื้อรถหรูมาในราคาใกล้เคียงกับราคาท้องตลาด อีกทั้งตอนที่ไปยื่นเรื่องร้องเรียนกับ 6 หน่วยงาน เจ้าหน้าที่ต่างก็เห็นใจ เพราะรู้ว่าต้องการซื้อมาขับเองจริง ๆ

ส่วนที่เจ้าของรถลัมบอร์กีนี มอบอำนาจให้มายื่นฟ้อง ก็เพราะมองว่าตอนแรก DSI และอัยการ มีคำสั่งเพิกถอนอายัดรถไปแล้ว มีเอกสารทางราชการถูกต้อง จึงกล้าซื้อรถมาไว้ในครอบครอง แต่พอจะขาย และโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้อื่นกลับทำไม่ได้ เพราะมีคำสั่งอายัดของกลางรอบที่ 2 ซึ่งแม้ว่าจะพยายามชี้แจงไปแล้วว่ามีการซื้อขายอย่างถูกต้อง ก็ไม่เป็นผล

อย่างที่บอกไปว่าคดีนี้มีผู้เสียหายรวมกลุ่มอยู่กว่า 120 คน ที่ยื่นฟ้องนี่แค่ 1 คน 1 คัน เท่านั้น เท่าที่คุย ๆ กัน น่าจะมีอีกไม่น้อยกว่า 30 คน ที่กำลังจะให้พิจารณาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่ง โดยไม่หวังว่าจะเอากำไรอะไร เพียงแต่เสียหายเท่าไร ก็อยากให้รับผิดชอบชดใช้เท่านั้น

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจาก DSI ว่า การซื้อขายรถลัมบอร์กีนีของผู้เสียหาย เกิดขึ้นในสมัยที่ นายมเหสักข์ พันธ์สง่า เป็นผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค มีข้อมูลการตรวจสอบพบมีการใช้อำนาจโดยพลการ ในการสั่งถอนอายัดของกลางในคดีโดยไม่ผ่านพนักงานสอบสวน ทำให้ต่อมา อัยการสูงสุดต้องมีคำสั่งอายัดของกลางเป็นครั้งที่ 2 สร้างความเสียหายต่อผู้ที่ซื้อขายรถที่เข้าใจว่า ไม่ใช่รถของกลางในคดี