ฟ้อง 3 หน่วยงาน อายัดรถหรูจนซื้อขายไม่ได้

View icon 97
วันที่ 20 มิ.ย. 2567
ข่าวภาคค่ำ
แชร์
ข่าวภาคค่ำ - ผู้เสียหายที่ซื้อรถหรูอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตัดสินใจฟ้องร้องกรมศุลกากร, DSI และอัยการ เรียกค่าเสียหายกว่า 49 ล้านบาท ที่มีการอายัดรถไปเป็นครั้งที่ 2 หลังพิจารณาแล้วเห็นว่า คำสั่งอายัดดังกล่าว สร้างความเสียหายกับเจ้าของรถ

นายกฤต วงศ์ท่าหลวง ทนายความ รับมอบอำนาจจากลูกความเจ้าของรถ Lamborghini ที่ถูก DSI สั่งอายัดเป็นของกลางในคดีรถหรูไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง เข้ายื่นเรื่องฟ้องศาลแพ่ง เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่รัฐ 3 หน่วยงาน รวม 9 คน ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย ที่มีคำสั่งอายัดรถหรู ที่ลูกความสั่งซื้อโดยสุจริต

โดยที่มาที่ไปของรถคันนี้ เริ่มจากที่ บริษัท จูบิลีไลน์ จำกัด สั่งนำเข้ารถคันนี้เมื่อปี 2554 ต่อมาทราบข่าวและเห็นหลักฐานชัดเจนว่ามีการถอนอายัดรถคันดังกล่าวไปแล้ว จึงตกลงซื้อขายมาใช้งานในปี 2564 ในราคา 20 ล้านบาท มีการทำสัญญาซื้อขายกันอย่างถูกต้อง

กระทั่งเดือนกรกฎาคม ปี 2566 ได้มีผู้ติดต่อขอซื้อต่อรถคันดังกล่าว ในราคา 26 ล้านบาท แต่เมื่อนัดหมายไปโอนเปลี่ยนเจ้าของกันที่กรมการขนส่งทางบก กลับไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะมีการสั่งอายัดรถคันนี้ไว้อีกเป็นครั้งที่ 2 จึงพยายามชี้แจงว่า ซื้อ-ขายรถคันนี้มาอย่างถูกต้อง แต่ก็ไม่เป็นผล เมื่อลูกความเห็นว่าตนเองเป็นผู้เสียหาย จึงตัดสินใจยื่นฟ้อง 3 หน่วยงาน ให้ร่วมกันรับผิดชอบ

สำหรับหน่วยงานที่ถูกยื่นฟ้อง ประกอบด้วย กรมศุลกากร, DSI และสำนักงานอัยการสูงสุด มีจำเลยทั้งหมด 9 คนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับอธิบดี หน่วยงานนั้น ๆ และเจ้าพนักงาน ส่วนเหตุที่เรียกค่าเสียหายทั้งหมด 49 ล้านบาท เป็นการพิจารณาจากค่าเสียหาย และค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นจริง โดยศาลได้รับคำร้อง พร้อมนัดชี้ 2 สถาน ในวันที่ 26 สิงหาคมนี้

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจาก DSI ว่า การซื้อขายดังกล่าวเกิดขึ้นในสมัยที่ นายมเหสักข์ พันธ์สง่า เป็นผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค โดยมีข้อมูลการตรวจสอบพบมีการใช้อำนาจโดยพลการ ไม่ผ่านพนักงานสอบสวน ในการสั่งถอนอายัดของกลางในคดี จนทำให้ต่อมา อัยการสูงสุดต้องมีคำสั่งอายัดของกลางเป็นครั้งที่ 2 สร้างความเสียหายต่อผู้ที่ซื้อขายรถ ที่เข้าใจว่าไม่ใช่รถของกลางในคดี