วิษณุ พูดให้คิด กรณี บิ๊กโจ๊ก

View icon 279
วันที่ 20 มิ.ย. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“วิษณุ”  ส่ง “บิ๊กต่อ” กลับเป็น ผบ.ตร. ส่วน บิ๊กโจ๊ก  สถานะขณะนี้ คือ ให้ออกจากราชการไว้ก่อน แต่ยังอยู่ระหว่างรอนำความกราบบังคมทูลฯ  ลั่น ตร.ต้องเป็นผู้ชี้ชะตา  ว่ายืนยันให้ออกจากราชการไว้ก่อนหรือไม่  พร้อมย้ำ นายกฯ ขอให้ 2 คนปรองดอง ร่วมทำงานกอบกู้วิกฤตศรัทธาจากประชาชน

วันนี้ ( 20 มิ.ย.67) เวลา 11.00น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี แถลงหลังได้รับรายงานผลการสอบสวน ของ คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีเป็นข่าวสาธารณะเกี่ยวกับความขัดแย้งในเรื่องคดีระหว่าง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล หรือ บิ๊กต่อ และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์  หักพาล หรือ บิ๊กโจ๊ก ที่ ประกอบด้วย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ประธานกรรมการ นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อดีตรองอัยการสูงสุด กรรมการ และพล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจเเห่งชาติ กรรมการ และเลขานุการ

โดย คณะกรรมการฯ ใช้เวลา 4 เดือน มีการตั้งคณะอนุกรรมการฯ และสอบพยาน 50 กว่าคนซึ่งรวมถึงสอบสวนคู่กรณี คือพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ มีข้อสรุป ที่จะชี้แจง และเตรียมส่งต่อให้ป.ป.ช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดี ดังนี้ คือ

1. พบว่ามีความขัดแย้ง และไม่เรียบร้อยเกิดขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติจริง เป็นความขัดแย้งระหว่างตำรวจหลายระดับ จนเกิดเป็นคดีความต่างๆ ฟ้องร้องและร้องเรียนกัน

2. เรื่องราวทั้งหมดส่วนใหญ่เกิดขึ้น ระหว่าง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และพล.ต.อ.สุรเชษฐ์  แต่ละคนมีทีมงานของตัวเองทำให้เกิดความขัดแย้งไปด้วย คดีสำคัญที่เกี่ยวกับบุคคลเหล่านี้ อาทิ คดี  140 ล้าน “เป้รักผู้การเท่าไหร่” //คดีกำนันนกคดี //คดีมินนี่ //คดีพนันออนไลน์ BNK และคดีย่อยๆแยกอีก 10 คดี ซึ่งอยู่ตามสถานีตำรวจ และบางเรื่อง อยู่ที่ศาลฯ โดยความขัดแย้งบางเรื่องเพิ่งเกิดขึ้นแต่บางเรื่องเกิดมาเกือบ 10 ปีแล้ว จึงทำให้เกิดคดี

3. คดีต่างๆ บางเรื่องส่งให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ทั้ง ตร. ตำรวจ อัยการ ศาลฯลฯ

4. บางเรื่องส่งให้กระบวนการนอกกระบวนการยุติธรรม หรือ องค์กรอิสระ คือ ป.ป.ช.  โดยคดีทั้งหมดมีผู้รับดำเนินการไปแล้วทั้งหมด ไม่ตกค้างที่ตร.

5. เนื่องจากพล.ต.อ.สุรเชษฐ์  ได้รับคำสั่ง ให้กลับตร. เป็นรองผบ.ตร.แล้วเมื่อ 18 เมษายน 67 จากเดิมที่เดิม มีคำสั่งเมื่อวันที่ 20มีนาคม 67 ให้ทั้งพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และพล.ต.อ.ต่อศักดิ์   ให้มาช่วยราชการที่สำนักนายกฯ แต่เมื่อ 18 เมษายน 67 ได้ส่งพล.ต.อ. สุรเชษฐ์ คนเดียว กลับไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นรองผบ.ตร.ขณะที่วันเดียวกันนั้น ก็ตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนทางวินัย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และมีคำสั่งอีกฉบับตามมา คือให้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อน

ดังนั้นจึงต้องส่ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์  กลับไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติเหมือนกัน ไปเป็นผบ.ตร.เหมือนเดิม เพราะไม่มีอะไรสอบสวนแล้ว ส่วนคดีความต่างๆ ที่อยู่ป.ป.ช.หรือศาลฯก็ว่าไปตามขั้นตอน ส่วนการสอบวินัยหรือไม่อย่างไร ก็เป็นเรื่องของตร.

นายวิษณุ อธิบายความ กรณีการออกจากราชการไว้ก่อนของพล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ซึ่งการออกการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน เนื่องจาก ตามพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ 2565 ได้เพิ่มมาตรา “ในกรณีการสั่งให้ตำรวจออกราชการไว้ก่อน ที่ไปกระทบต่อสิทธิหน้าที่ของบุคคลนั้น จะต้องกระทำตามคำแนะนำจากคณะกรรมการสอบสวน” อย่างไรก็ตามปรากฏว่า ณ วันที่ 18 เมษายน 67 ตร.มีการออกคำสั่ง 3 คำสั่งติดต่อกัน คำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้น  ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ได้มีมติ 10 ต่อ 0 เห็นว่า การสั่งออกราชการที่กระทบต่อสิทธิและหน้าที่โดยเรื่องนี้ไม่ได้ผ่านคณะกรรมการสอบสวนฯ นั้นไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม จึงให้ตร.กลับไปทำถูกต้อง หรือเปลี่ยนใจอย่างไรก็แล้วแต่

สรุป สถานะ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ คือ ขณะนี้ ให้ออกจากราชการไว้ก่อน แต่ยังอยู่ระหว่างรอนำความกราบบังคมทูลฯ ซึ่งการจะกราบบังคมทูลฯให้ออกจากราชการ สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะต้องตรวจสอบว่าทำตามถูกต้องตามระเบียบกฎหมายหรือไม่ ขณะที่พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ก็ไปฟ้องคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมฯ ที่กำลังพิจารณาเรื่องทั้งหมด

นายวิษณุ ตอบคำถาม กรณี พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ใช้คำว่า ส่งกลับไปไม่ได้ เพราะส่งกลับตั้งแต่ 18 เมษายน 67 แต่พล.ต.อ.ต่อศักดิ์  ใช้คำว่าส่งกลับได้ ส่วนจะส่งกลับวันนี้พรุ่งนี้ แล้วแต่นายกรัฐมนตรี

“นายกรัฐมนตรี ขอให้ทั้งสองฝ่ายปรองดองกันในงานราชการ แต่ถ้าทำอะไรผิดก็ดำเนินการไปตามกฎหมาย ในการทำงานที่จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนต้องไม่ทำให้เสื่อมศรัทธา พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ และตำรวจทุกคน ต้องร่วมมือกัน ทุกอย่างจะเบาบางลง ต่อจากนี้ขึ้นอยู่กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าจะตัดสินใจกับชะตากรรมของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างไร” นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ ย้ำ เรื่องนี้จะต้องมีข้อยุติว่าใครผิดใครถูก และดำเนินคดีเหมือนคนธรรมดาทั่วไป ยืนยันไม่มีฟอกขาวพล.ต.อ.ต่อศักดิ์  ซึ่งคดี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์  ต้องไปสู้ที่ป.ป.ช. ขณะที่ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ ยังมีสิทธิลุ้นตำแหน่ง ผบ.ตร. เพราะกฎหมายย้ำชัดเจนไม่ให้ใช้เรื่องนี้มาสกัดการดำรงตำแหน่ง

ทั้งนี้ นายวิษณุ  ย้ำ คณะกรรมการฯ ไม่ได้ชี้ว่าใครถูกหรือคนผิด แต่ได้รายงานนายกรัฐมนตรี ว่า พบเห็นความยุ่งยากสับสน ในคดีทุจริตใหญ่ๆ ระหว่างอำนาจสอบสวนของหลายหน่วยงาน ว่าเรื่องนี้จะต้องอยู่ในอำนาจของหน่วยงานใด อาทิ ป.ป.ช. DSI ป.ป.ท.ฯ ที่ผ่านมามีเจ้าภาพหลายรายเกินไป ทั้งที่เจ้าภาพใหญ่คือป.ป.ช. ดังนั้น คณะกรรมการจึงเสนอให้กระทรวงยุติธรรม และ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องร่วมพิจารณาให้ชัดว่า กรณีแบบนี้ต้องอยู่ในอำนาจของใคร เพราะถ้าสอบสวนผิดศาลก็ยกฟ้อง จะได้ไม่มีปัญหาโยนกันไปโยนกันมา กรณีนี้ถือเป็นบทเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เร่งดำเนินการตามคณะกรรมการฯเสนอ