สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงงานด้านสัตวแพทย์

View icon 187
วันที่ 14 มิ.ย. 2567
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 07.21 น. วันนี้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี เสด็จไปยังศูนย์ศัลยกรรมและการผ่าตัดผ่านลำกล้อง ชั้น 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา บรมราชินีนาถ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ในการนี้ ทรงมีพระวินิจฉัยร่วมกับทีมสัตวแพทย์ เกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของสุนัขที่มารับการรักษา และผ่าตัดทำหมัน ได้แก่ สุนัขเพศเมีย สายพันธุ์ปอมเมอเรเนียน ชื่อ ลัคกี้ อายุ 6 ปี รับการผ่าตัดทำหมัน และสุนัขเพศผู้ สายพันธุ์คอร์กี้ ชื่อ โฮชิ อายุ 2 ปี รับการผ่าตัดเนื่องจากมีภาวะลูกอัณฑะไม่อยู่ในตำแหน่งปกติ หรือภาวะอัณฑะทองแดง พร้อมผ่าตัดทำหมัน

จากนั้น ทรงเตรียมอุปกรณ์ และเครื่องมือ สำหรับทรงงานวิสัญญีสัตวแพทย์ ด้วยการให้ยานำสลบผ่านทางหลอดเลือด และทรงติดตามเฝ้าระวังสัญญาณชีพตลอดการผ่าตัด เพื่อทรงประเมินความปลอดภัยของสุนัข การผ่าตัดทำหมัน ในสุนัขเพศเมีย เป็นการป้องกันการเกิดเนื้องอกที่เต้านม และเป็นวิธีที่ดีกว่าการฉีดยาคุม เนื่องจากการฉีดยาคุม อาจทำให้เกิดภาวะมดลูกอักเสบได้ในอนาคต และภาวะมดลูกอักเสบ มีโอกาสทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและการทำงานของไตที่ผิดปกติ ส่วนภาวะลูกอัณฑะไม่อยู่ในตำแหน่งปกติ หรือภาวะอัณฑะทองแดง คือ ความผิดปกติที่อัณฑะไม่เจริญเคลื่อนตัวลงมาในถุงอัณฑะ ทำให้สุนัขมีโอกาสเป็นเนื้องอกและมะเร็งได้ในอนาคต ทางเดียวสำหรับการรักษา คือ ผ่าตัดเอาอัณฑะออก เพื่อหลีกเลี่ยงการผสมพันธุ์ที่จะสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ส่วนใหญ่ลูกอัณฑะจะเคลื่อนตัวไปอยู่ในถุงหุ้มอัณฑะครบตอนอายุ 6 เดือน หากสุนัขโตเต็มวัยหรืออายุ 1 ปีขึ้นไปแล้ว ลูกอัณฑะยังลงถุงไม่ครบทั้ง 2 ข้าง แสดงว่ามีภาวะอัณฑะทองแดง แนะนำให้นำสุนัขไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและทำการรักษา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง