พีระพันธุ์ จ่อร่างกฎหมาย แยก “ค่านายหน้า” ซื้อขายน้ำมันดิบ ออกจาก “ต้นทุนน้ำมัน”

View icon 171
วันที่ 11 มิ.ย. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“พีระพันธุ์” เตรียมร่างกฎหมายแยกค่าใช้จ่ายอื่นและ “ค่านายหน้า” ซื้อขายน้ำมันดิบจาก “ต้นทุนน้ำมัน” ปิดช่องผู้ค้าฯ ผลักภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน จ่อตั้งองค์กรใหม่ดูแลระบบสำรองน้ำมันแห่งชาติ

วันนี้ (11 มิถุนายน 2567) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ ครั้งที่ 15/2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อพิจารณาร่างแนวทางการจัดตั้งสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงและรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาเชื้อเพลิงของประเทศไทย

ในการประชุมครั้งนี้  ที่ประชุมยังได้พิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่านายหน้าจากการซื้อขายน้ำมันดิบมายังโรงกลั่นในประเทศไทย โดยนายพีระพันธุ์กำลังยกร่างกฎหมายเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ไม่ให้ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงนำ “ค่านายหน้า” และค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ ”ค่าใช้จ่ายโดยตรง“ ในการได้มาซึ่งน้ำมันมาคำนวณเป็นส่วนหนึ่งของ “ต้นทุนน้ำมัน” ซึ่งจะทำให้ประชาชนต้องเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายนี้แทนในท้ายที่สุด

“ เรื่องหนึ่งที่เป็นกังวลเกี่ยวกับต้นทุนน้ำมันในวันนี้ ก็คือ เรื่องค่านายหน้าและค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายโดยตรงในการซื้อน้ำมัน ถ้าคุณสามารถเอาค่านายหน้ากับค่าใช้จ่ายพวกนี้มาบวกกับค่าน้ำมันแท้ๆ คุณก็สามารถเอาค่าโน่น ค่านี่มาบวก ทำให้ต้นทุนสูง  เลยต้องขายราคาเท่านั้นเท่านี้ พอเป็นอย่างนี้ เราไม่รู้ว่าต้นทุนน้ำมันที่แท้จริงคือเท่าไหร่ เพราะเขาเอารายจ่ายอย่างอื่นที่ไม่มีเหตุจําเป็นมารวมตรงนี้ด้วย ทุกวันนี้มันเป็นอย่างนี้ เพราะมันไม่มีกฎหมาย มันก็เลยกลายมาเป็นภาระของประชาชน เพราะเราก็ไม่สามารถที่จะไปตรวจละเอียดได้หมดทุกรายการ แต่ถ้าเรามีกฎหมายแยกไว้เฉพาะ โดยกําหนดไว้ว่า สิ่งที่คุณจะมาบวกเป็นต้นทุนน้ำมัน คือ 1. ค่าน้ำมันจริงๆ 2. ค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ส่วนเขาจะมีค่านายหน้าหรืออ้างค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่ค่าเนื้อน้ำมันแท้ๆ ก็มีไป แต่เอามารวมไม่ได้ คุณอยากให้บริษัทคุณมีภาระเยอะๆ เพื่อจะไปลดกําไร เพื่อไม่ต้องเสียภาษีเยอะ หรืออะไร ก็เลือกทำได้ตามสบาย แต่คุณจะเอาค่าใช้จ่ายพวกนั้นมาโยนให้ประชาชนผ่านต้นทุนน้ำมันไม่ได้   สิ่งที่เราไม่มีวันนี้คือ เรายังไม่มีกฎหมายที่ให้อำนาจทำแบบนี้ แต่นี่คือสิ่งที่ผมกำลังทำเพื่อแก้ปัญหาตรงนี้” นายพีระพันธุ์กล่าว

นอกจากนี้ ประชุมได้พิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันเชื้อเพลิงในต่างประเทศ เช่น รัสเซีย และ สปป.ลาว รวมถึง กฎหมายพลังงานของประเทศสมาชิกอาเซียน  โดยก่อนหน้านี้ ที่ประชุมได้พิจารณาข้อมูลและข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องน้ำมันเชื้อเพลิง โครงสร้างราคาน้ำมัน และกฎหมายพลังงานของหลายประเทศทั่วโลก เพื่อศึกษาการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงในต่างประเทศ ทั้งด้านรูปแบบการจัดเก็บ ที่มาของเนื้อน้ำมัน โครงสร้างพื้นฐานการจัดเก็บ แหล่งเงิน การบริหารจัดการ และองค์กรที่กำกับดูแล  เพื่อร่างแนวทางการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศไทย  ซึ่งมีเป้าหมายการจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงในภาพรวมไม่น้อยกว่า 90 วัน (ปัจจุบันไทยมีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายโดยภาคเอกชนอยู่ที่ 25 วัน)  โดยกลไกการบริหารจัดการในส่วนนี้จะดำเนินการผ่าน สำนักงานสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงแห่งชาติ (สสนช.) ซึ่งเป็นองค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่  ทำหน้าที่กำกับและออกคำสั่งไปยังภาคเอกชน เพื่อให้ภาคเอกชนดำเนินการเกี่ยวกับการสำรองน้ำมันของภาครัฐ 

สำหรับแนวทางการดำเนินการในระยะเริ่มต้นนั้น จะมีการร่างกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงและบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินรวม 6 ฉบับ และจะมีการถ่ายโอนภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปยัง สำนักงานสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงแห่งชาติ (สสนช.) ซึ่งเป็นองค์กรที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่  รวมทั้ง การเตรียมการจัดหาพื้นที่สำหรับการเก็บสำรองน้ำมัน

ทั้งนี้ ระบบสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SPR มีประโยชน์ในภาพรวม โดยสามารถช่วยป้องกันและแก้ไขการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง  ช่วยลดต้นทุนการซื้อน้ำมันจากต่างประเทศในช่วงตลาดโลกราคาสูง และยังสามารถเพิ่มบทบาททางการค้าของไทยในฐานะศูนย์กลางการซื้อขายน้ำมันในภูมิภาคได้ด้วย