ยาเสพติดชายแดนระบาดหนัก อึ้ง ใช้เด็กอายุ 14 ปี ลักลอบลำเลียง

View icon 198
วันที่ 21 พ.ค. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
หน่วยสกัดกั้นยาเสพติดชายแดนเหนือ สกัดจับ 6 เดือน ได้ยาบ้า 129 ล้านเม็ด อึ้ง ใช้เด็ก 14 ปี ลักลอบลำเลียง คาดสถานการณ์สงครามยิ่งรุนแรงยาบ้ายิ่งระบาด

ยาเสพติด วันนี้(21 พฤษภาคม 2567) พลเอกนฤทธิ์ ถาวรวงษ์  ผบ.นบ.ยส.35 พร้อมด้วยนายอภิกิต ฉ.โรจน์ประเสริฐ ผอ.ปปส.ภ.5 และนายศราวุธ  ภักดี ผอ.ปปส.ภ.6 พร้อมเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องได้เข้าร่วมประชุมติดตามผลการดำเนินงานของ นบ.ยส.35 ในการสกัดกั้นปราบปรามยาเสพติดในพื้นที่ภาคเหนือที่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

พลเอกนฤทธิ์ เปิดเผยว่า ได้มีการจัดตั้งหน่วย นบ.ยส.35 ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2566 จนถึงปัจจุบัน ช่วงระยะเวลา 6 เดือน มีผลการจับกุมและตรวจยึดยาบ้าได้ 129 ล้านเม็ด ไอซ์เกือบ 2 ตัน เฮโรอีน 300 กิโลกรัม มีการสกัดกั้้นอย่างเข้มข้นตามนโยบายของรัฐบาลและทุกหน่วยงานปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็ง ในส่วนความไม่สงบในเมียนมา พบว่า มีการผลิตเฮโรอีนและไอซ์มากยิ่งขึ้น เพื่อส่งไปยังประเทศที่ 3 โดยจับกุมไอซ์ จำนวน 2 ตัน ได้ที่เมียนมา และยาเสพติดอีกเกือบ 30 ล้านเม็ด โดยเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2567 จับกุมได้อีกกว่า 14 ล้านเม็ด ซึ่งสถานการณ์ก็จะรุนแรงมากขึ้น ไอซ์และเฮโรอีนที่จะไปประเทศที่ 3 มากขึ้น เพราะกลุ่มผู้ผลิตต้องการเม็ดเงินจำนวนมาก เพื่อนำไปพัฒนาประเทศ นำไปต่อสู้กันในประเทศเมียนมา

พลเอกนฤทธิ์ กล่าวอีกว่า เคยจับกุมผู้ต้องหาได้อายุต่ำสุด 14 ปี และจากการปะทะก็พบว่ามีเด็กอายุ 14 - 15 ปี จึงน่าตกใจที่ใช้เยาวชนมาขนยาเสพติด ใช้เยาวชนบังหน้าตบตาเจ้าหน้าที่ ไม่ให้ตรวจตราอย่างละเอียด มีแนวโน้มว่ากลุ่มเยาวชนจะหลงเข้ามาอยู่ในวังวนของยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น เจ้าหน้าที่ก็ระมัดระวังไม่ให้ละเมิดสิทธิละเมิดระเบียบต่าง ๆ ซึ่งแหล่งผลิตในพื้นที่รัฐฉานเหนือยังมี 6 - 7 แห่ง แหล่งผลิตตามแนวชายแดนมีเพิ่ม 2 - 3 แห่ง ตอนนี้เฮโรอีนกับไอซ์เพิ่มมากขึ้น ตลาดยาบ้าในไทยเริ่มอิ่มตัว จึงต้องผลิตไอซ์และเฮโรอีน เมื่อก่อนการลักลอบขนจะใช้การตบตาเจ้าหน้าที่แต่ตอนนี้มีการขนเหมือนขนผลไม้ ขนง่าย ๆ ก็ยังเป็นลักษณะขนโดยใช้ผลผลิตทางการเกษตร แล้วใช้รถหลายประเภท รถตู้เย็น รถปูน รถของมูลนิธิต่าง ๆ มาเสริม ที่ผ่านมารถบิ๊กไบก์ก็เกิดขึ้น ต่อไปก็อาจต้องระวังรถนักข่าว

จากการติดตามและสกัดกั้นได้ผลในพื้นที่เชียงใหม่ และเชียงราย ตอนหลังยาเริ่มทะลักไปทางแม่ฮ่องสอน ตาก และภูซาง ซึ่งในช่วงฤดูฝนการปฏิบัติของทหารตามแนวชายแดนก็ลำบากขึ้นแต่ก็ต้องดูพื้นที่ เน้นไปที่ช่องทางการคมนาคมที่ค่อนข้างสะดวก โดยเฉพาะเส้นทางน้ำ ถ้าน้ำไม่แรงจริงเขาก็สามารถใช้เรือข้ามได้ มีการพูดคุยกับ ผบ.กองกำลังผาเมือง และ นรข. แล้วว่าต้องเพิ่มน้ำหนักไปทางเส้นทางแม่น้ำโขงมากขึ้น  ขณะที่ในส่วนของเมียนมานั้นเรื่องยาเสพติดกับไฟป่าหมอกควันไม่ได้เป็นปัญหาเร่งด่วนโดยนำกำลังมาควบคุมทางด้านตะวันตก พื้นที่แม่สอด จ.ตาก ค่อนข้างมาก ด้านเส้นทางเหนือ รัฐฉานเหนือ ทางกลุ่มขบวนการมีเสรีการปฏิบัติ ทำให้ยาค่อนข้างมาก เมียนมาจึงนำกำลังมาใช้ด้านนี้ที่มีผลกระทบอยู่ และที่เราได้รับความร่วมมือก็คือติดตามบุคคลที่มีหมายจับ เช่นเรื่องยาเสพติดที่เข้ามาได้พูดคุยกับตำรวจปราบปรามยาเสพติดก็พบว่า คนสั่งอยู่ในพื้นที่ท่าขี้เหล็ก ยาเข้ามาทางด้านเหนือ บางทีก็ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ บุคคลที่มีหมายจับและไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านก็เป็นตัวแปรที่ทำให้สถานการณ์ยาเสพติดรุนแรงขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อเวลา 05.30 น. ที่ผ่านมา กองกำลังผาเมือง นำโดยเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจไชยานุภาพ ยังออกลาดตระเวนเฝ้าตรวจ และปะทะกลุ่มขบวนการลักลอบลำเลียงยาเสพติด บริเวณบ้านห้วยลึกแม่ยางกุม ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ซึ่งผลการปฏิบัติฝ่ายเราปลอดภัย จากการตรวจสอบพื้นที่ พบเป้กระสอบดัดแปลง จำนวน 6 เป้ ภายในบรรจุยาบ้า เป้ละ 200,000 เม็ด รวมจำนวน 1,200,000 เม็ด ไม่พบกลุ่มขบวนการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ส่วนทางด้านนายอภิกิต  ฉ.โรจน์ประเสริฐ ผอ.ปปส.ภ.5 เปิดเผยว่า สภาพปัญหาในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีการประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษเพิ่มเติม นอกเหนือจากพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และเชียงราย ปัจจุบันได้เพิ่มมาอีก 4 จังหวัดคือ แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน และตาก ระดมกำลังเข้ามา หลังขับเคลื่อน 11 อำเภอในเชียงใหม่และเชียงราย และพบว่ามียาบางส่วนที่พยายามหาช่องทางใหม่ ๆ ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีก็มีข้อสั่งการให้ดำเนินการ 90 วันหลังจากนี้อย่างเข้มข้น จึงเป็นที่มาของวันนี้ที่เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนอกเหนือจากมติของบอร์ด ป.ป.ส. ที่ต้องมาชี้แจงเพิ่มเติม มาพูดคุยและวางแนวทางที่จะทำงานร่วมกัน ยา 1 เม็ด หรือ 5 เม็ด ที่เข้าใจ การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. และตำรวจ ก็ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นหลัก ไม่ว่าจะกี่เม็ดต้องดูว่าเสพ หรือจะนำไปค้าจำหน่าย นโยบายในส่วนที่นักวิชาการคิดกันมา และรัฐบาลผลักดันให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ง่ายขึ้น แต่เจ้าหน้าที่ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นหลัก ไม่ใช่คำนึงถึงจำนวนเม็ด