สีคิ้วยังมี ถนนดินแดงทางเข้า 2 หมู่บ้าน 250 ครัวเรือนเดือดร้อนหนัก

View icon 115
วันที่ 21 พ.ค. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก 2 หมู่บ้าน อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ใช้ถนนลูกรังเข้าหมู่บ้าน วอนรัฐช่วยนำความเจริญเข้าสู่ชุมชน หลักทนอยู่มานานกว่า 50 ปี

สีคิ้ว วันนี้(21 พฤษภาคม 2567) ชาวบ้านหมู่ 9 บ้านซับศิลาทอง และหมู่ 2 บ้านซับศรีจันทร์ ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา กว่า 250 ครัวเรือน ประสบกับความเดือดร้อนจากถนนทางเข้า-ออก หมู่บ้านชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นพื้นที่ราบเชิงเขา ห่างไกลความเจริญ ห่างจากตัวเมืองสีคิ้วกว่า 40 กิโลเมตร สภาพเป็นถนนดินลูกรัง ขรุขระ ลัดเลาะไปตามแนวเชิงเขา ระยะทางยาว 8-9 กิโลเมตร บางช่วงมีการก่อสร้างถนนคอนกรีตไว้แล้ว แต่แค่ระยะสั้น 40-50 เมตร ทำเป็นช่วง ๆ กระท่อนกระแท่น ซึ่งยังขาดตอนอีกมาก ผิวถนนส่วนใหญ่ยังมีสภาพเป็นดินแดง ขรุขระ มีฝุ่นละออง บางช่วงเป็นเส้นทางน้ำหลาก กลายเป็นหลุมเป็นบ่อ และมีก้อนหินทรายขนาดใหญ่ปะปนตลอดเส้นทาง ชาวบ้านใช้เป็นเส้นทางเดินทางไปทำงาน ทำธุระ เด็กไปโรงเรียนไม่สะดวก การสัญจรไปมาทุลักทุเล รวมถึงเวลามีผู้ป่วยในหมู่บ้าน รถพยาบาลเคลื่อนย้ายช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยความยากลำบาก ชาวบ้านต้องเดินทางในสภาพแบบนี้มายาวนานกว่า 50 ปี แม้บางปีมีหน่วยงานรัฐ เจียดงบมาสร้างถนนคอนกรีตบ้าง แต่ได้แค่ระยะทางสั้น ๆ เท่านั้น เนื่องจากงบประมาณจำกัด

นายอายัน ขอผลกลาง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 บ้านซับศิลาทอง กล่าวว่า นอกจากมีชุมชนบ้านเรือนประชาชนอาศัยอยู่กว่า 250 ครอบครัวแล้ว ในพื้นที่รอบหมู่บ้านมีสถานที่ท่องเที่ยว ลานพักผ่อนชมวิวธรรมชาติเขื่อนลำตะคอง เรียกว่า ลานยูเอฟโอ รวมถึงศูนย์ปฏิบัติธรรมภูแสงดาว และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอื่น ๆ แม้เป็นพื้นที่ไกลปืนเที่ยง แถบภูเขา ห่างไกลความเจริญ แต่อยากให้ความเจริญมาถึง โดยเฉพาะถนนหนทาง ถนนดี เดินทางสะดวก อยากให้หน่วยงานภาครัฐช่วยดูแลชาวบ้านด้วย

ด้านนายมุดตอฟาร์ ศรีรานี นายก อบต.คลองไผ่ เจ้าของพื้นที่ กล่าวว่า เนื่องจากภาระงานค่อนข้างใหญ่ เกินกำลังของท้องถิ่น อบต. โดยเฉพาะมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ ที่ผ่านมาก็ช่วยดูแลซ่อมแซมผิวถนนเส้นทางนี้มาโดยตลอด แต่ระยะทางค่อนข้างยาว 8-9  กิโลเมตร และอยู่ในพื้นที่เขตป่า ทำให้การพัฒนาถนนทำได้ล่าช้า อย่างไรก็ตาม อบต.พร้อมประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ อบจ.นครราชสีมา เพื่อจัดหางบประมาณมาดำเนินการให้แล้วเสร็จตลอดทั้งสาย เพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน และกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่อีกด้วย