เปลี่ยนผ่านเอลนีโญสู่ลานีญา ดร.เสรี คาดมีพายุโซนร้อนเกิดขึ้นประมาณ 18 ลูก

View icon 1.7K
วันที่ 28 เม.ย. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ปีนี้ใกล้ผ่านความร้อนแบบเดือด ๆ ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน พ.ค. เปลี่ยนผ่านเอลนีโญสู่ลานีญา ช่วงต้นฤดู ฝนน้อย ดร.เสรีแนะชาวนาเลื่อนระยะเวลาปลูกข้าวนาปีไปจนถึงกลางเดือน ก.ค. คาดจะมีพายุโซนร้อนเกิดขึ้นประมาณ 18 จากเฉลี่ย 20 ลูก

วันนี้ (28 เม.ย.67) ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB, MQDC และผู้เชี่ยวชาญสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ใช้พื้นที่เฟซบุ๊กส่วนตัวไขคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญ IPCC คาดการณ์สภาพอากาศ ผ่านร้อนปีนี้จนถึงต้นสัปดาห์หน้า โดยระบุว่า จากรูปอุณหภูมิเฉลี่ยรายสัปดาห์จะเห็นเฉดสีชัดเจน ว่าเรากำลังจะผ่านความร้อนแบบเดือด ๆ ไปตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน พ.ค. จนเข้าเดือน มิ.ย. จะเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ แต่อย่าลืมว่าโลกยังคงร้อนขึ้นอย่างไม่มีขีดจำกัด (ขึ้นกับการใช้พลังงานจากฟอสซิลเป็นสำคัญ)

จากรายงานล่าสุด กลุ่มประเทศยุโรปกลุ่มเดียวที่มีการปล่อย CO2 ลดลง ประเทศจีน อินเดีย และประเทศในกลุ่มทวีปเอเชีย รวมทั้งทวีปอเมริกาเหนือ (สหรัฐ และแคนาดา) ยังคงใช้พลังงาน และปลดปล่อย CO2 เพิ่มขึ้น 1-5% ในปี 2565 (แทนที่จะต้องลดลง 9% ต่อปีเพื่อหลีกเลี่ยง 1.5oC ตามข้อตกลงปารีส) แม้หนทางจะคับแคบ แต่ก็ยังมีความหวังน้อย ๆ อยู่

การเปลี่ยนผ่านจากเอลนีโญไปสู่ลานีญา กำลังเกิดขึ้นช่วงกลางปีนี้ และคาดว่าปลายปีจะเข้าสู่ลานีญา (ระดับปานกลาง) อุณหภูมิที่ร้อนแรงตั้งแต่ต้นปีจึงจะลดลงตั้งแต่กลางปีไปถึงปลายปี แต่ความหวังเรื่องของฝนยังคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง การคาดการณ์ล่วงหน้าปริมาณฝนช่วงต้นฝน (เม.ย.- พ.ค.) ทุกแบบจำลองให้ผลสอดคล้องกันว่าไม่ค่อยดีนัก แต่เมื่อเข้าสู่กลางฤดูถึงปลายฤดู ปริมาณฝนจะเริ่มดีขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่กลางเดือน ก.ค.เป็นต้นไป บริเวณ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนไม่ค่อยได้ฝนมากนัก

ดร.เสรี แนะนำไปยังเกษตรกรให้ควรวางแผนความเสี่ยงโดยการเลื่อนระยะเวลาปลูกข้าวนาปีไปจนถึงกลางเดือน ก.ค. การเปลี่ยนผ่านไปสู่ปรากฏการณ์ลานีญา ช่วงปลายปี อาจจะทำให้มีบางพื้นที่ฝนตกหนัก (ในเวลาจำกัด) ทำให้เกิดน้ำท่วมรอการระบาย หรือพื้นที่ที่อยู่ในเส้นทางพายุจร ซึ่งคาดการณ์ว่าระหว่างเดือน พ.ค. ถึงเดือน ต.ค. จะมีจำนวนพายุโซนร้อนเกิดขึ้นประมาณ 18 จากเฉลี่ย 20 ลูก และพัฒนาเป็นพายุไต้ฝุ่นประมาณ 10 จาก เฉลี่ย 13 ลูก เส้นทางพายุมักจะวนขึ้นบน (คาดการณ์ 3-5 วัน)

อนึ่งการคาดการณ์ฝนล่วงหน้า มีความไม่แน่นอนจึงต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง พร้อมบริหารความเสี่ยงด้วย หากมีเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงที่จะเกิดขึ้น และอาจจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใด ทาง Futuretales LAB, MQDC จะแจ้งให้ทราบต่อไป