คีตามีน 320 กก. ยัดใส่หุ่นยนต์คล้าย ออโต้บอต เตรียมส่งไปไต้หวัน

View icon 116
วันที่ 26 เม.ย. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ป.ป.ส.ร่วมออสเตรเลีย สกัดจับหุ่นยนต์เลียนแบบหนังดัง ซุกคีตามีน 320 กิโลกรัม เตรียมขึ้นเรือส่งจากไทยไปไต้หวัน ค่าขนส่ง 180,000 บาท

คีตามีน วันนี้(26 เมษายน 2567) พลตำรวจโท ภาณุรัตน์ หลักบุญ (เลขาธิการ ป.ป.ส.) พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แถลงผลการ ตรวจยึดคีตามีน 320 กิโลกรัม ซุกซ่อนในฐานรองหุ่นยนต์เหล็ก เตรียมจัดส่งไปปลายทางไต้หวัน ผ่านการขนส่งทางเรือ และขยายผลจับกุมผู้ส่งชาวไทย 1 คน เหตุเกิดที่บริษัทขนส่งเอกชน ในพื้นที่ กทม.

เนื่องจาก สำนักงาน ป.ป.ส. ร่วมกับ หน่วยปฏิบัติการ SITF และ ตำรวจสหพันธ์ออสเตรเลีย (Australian Federal Police : AFP) ปฏิบัติการเฉพาะกิจร่วม ไทย-ออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567 ทางการออสเตรเลียตรวจยึดไอซ์ 108 กิโลกรัม ซุกซ่อนอยู่ในเครื่องแปรรูปอาหาร ส่งมาจากประเทศไทย ซึ่ง สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ดำเนินการสืบสวนขยายผลจนกระทั่งทราบว่า ผู้ดำเนินการจัดส่งสินค้าดังกล่าวเป็นหญิงชาวไทย จึงดำเนินการสืบสวนติดตามพฤติการณ์เรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ 24 เมษายน 2567 ทราบว่าหญิงไทยคนดังกล่าว ได้ดำเนินการจัดส่งสินค้าประเภทหุ่นยนต์เหล็ก ไปยังปลายทางประเทศไต้หวัน จึงเป็นเหตุต้องสงสัยว่าจะมีการซุกซ่อนยาเสพติดไปกับสินค้าดังกล่าว เจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. จึงบูรณาการความร่วมมือกับ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด กรมศุลกากร กระทรวงยุติธรรมไต้หวัน (Ministry of Justice Investigation Bureau : MJIB) ดำเนินการตรวจสอบสินค้าดังกล่าว ผลการตรวจสอบพบ คีตามีน 320 กิโลกรัม ซุกซ่อนในฐานรองหุ่นยนต์เหล็ก (ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าครั้งนี้ 180,000 บาท) เจ้าหน้าที่จึงดำเนินการตรวจยึดยาเสพติดดังกล่าว และดำเนินการขยายผลสืบสวนติดตามจับกุมผู้ส่งสินค้าที่ซุกซ่อนยาเสพติดได้ ในวันที่ 25 เมษายน 2567 โดยผู้ต้องหาให้การว่าได้รับคำสั่งจากหญิงชาวลาวให้ดำเนินการจัดส่งสินค้า

ทรานฟอร์เมอร์

ทั้งนี้ ในห้วงปี 2565 - 2567 ภายใต้โครงการความร่วมมือด้านปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติดในพื้นที่ท่าเรือ (Seaport Interdiction Task Force : SITF) ได้ดำเนินการสกัดกั้นยาเสพติดที่เตรียมส่งออกไปยังประเทศที่สาม ผ่านท่าเรือพาณิชย์ โดยปริมาณยาเสพติดเป็นประเภท ไอซ์กว่า 1.8 ตัน เฮโรอีน 265 กิโลกรัม ประเทศปลายทาง คือ ออสเตรเลีย ไต้หวัน มาเลเซีย ฮ่องกง โดยในช่วงหลังพบว่าขบวนการค้ายาเสพติดใช้การลักลอบลำเลียงยาเสพติดผ่าน ท่าเรือเอกชน/ ท่าเรือส่วนบุคคล ในพื้นที่ภาคตะวันออก (จ.จันทบุรี จ.ระยอง จ.ตราด และ จ.ฉะเชิงเทรา) โดยบรรทุกยาเสพติดใส่ในเรือบรรทุกสินค้า และลำเลียงไปส่งยังเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ที่จอดรออยู่บริเวณน่านน้ำสากล เพื่อลำเลียงไปยังปลายทางประเทศที่สาม เนื่องจากสามารถลำเลียงยาเสพติดได้ในปริมาณมาก และบริเวณเขตน่านน้ำสากลที่ใช้ในการขนถ่ายยาเสพติด ไม่มีอำนาจอธิปไตยและรัฐใด ๆ ควบคุม ส่งผลให้การลักลอบขนส่งยาเสพติดทางทะเลอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและเป็นสถานการณ์ที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งในห้วงปี 2565 - 2567 พบสถิติการจับกุมและตรวจยึดยาเสพติดประเภท ไอซ์กว่า 4 ตัน คีตามีนกว่า 2 ตัน

ทรานฟอร์เมอร์

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการค้ายาเสพติดในลักษณะเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติกระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ลักลอบลำเลียงยาเสพติดโดยใช้ไทยเป็นทางผ่านไปยังประเทศที่สามยังพบอย่างต่อเนื่อง ทั้งผ่านการขนส่งทางพัสดุภัณฑ์ระหว่างประเทศ ผ่านการขนส่งทางอากาศ และ ซุกซ่อนในสินค้าต่าง ๆ ผ่านการขนส่งทางเรือ ในการนี้ สำนักงาน ป.ป.ส. ได้มีโครงการความร่วมมือด้านปราบปรามและสกัดกั้นยาเสพติดพื้นที่ท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Task force : AITF) และ สกัดกั้นยาเสพติดพื้นที่ท่าเรือ (Seaport Interdiction Task Force : SITF) เป็นหน่วยปฏิบัติต้นทางในการสกัดกั้นการนำยาเสพติดเข้าพื้นที่ตอนใน และส่งออกไปยังประเทศที่สาม ทั้งนี้ การปฏิบัติการที่ประสบผลสำเร็จเป็นผลจากความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งเป็นนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ต้องการให้ประสานงานกับต่างประเทศอย่างต่อเนื่องเพื่อปราบปรามเครือข่ายยาเสพติดข้ามชาติ เช่นในครั้งนี้ที่ สำนักงาน ป.ป.ส. ได้รับความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวการสืบสวนร่วมกับหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจสหพันธ์ออสเตรเลีย (Australian Federal Police : AFP) กระทรวงยุติธรรมไต้หวัน (Ministry of Justice Investigation Bureau : MJIB) จนนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ในการทำลายเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ ดังกล่าว

ทรานฟอร์เมอร์

ทรานฟอร์เมอร์

ทรานฟอร์เมอร์

ทรานฟอร์เมอร์