7 วันอันตรายช่วงสงกรานต์ 67 นี้ มีผู้เสียชีวิตรวม 287 คน

View icon 188
วันที่ 18 เม.ย. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ศปถ. สรุป 11–17 เม.ย.67  มีผู้เสียชีวิต 287 คน บาดเจ็บ 2,060 คน เกิดอุบัติเหตุ 2,044 ครั้ง พบเชียงราย ครองแชมป์ เสียชีวิต และเกิดอุบัติเหตุสูงสุด เร่งบูรณาการทุกภาคส่วนถอดบทเรียนอุบัติเหตุทางถนนเพื่อสร้างการสัญจรที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

วันนี้ (18 เม.ย. 67) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แถลงสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ประจำวันที่ 17 เมษายน 2567 เกิดอุบัติเหตุ 224 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 224 คน ผู้เสียชีวิต 28 ราย พบเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ตั้งจุดตรวจหลัก 1,762 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,371 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงราย ประจวบคีรีขันธ์ แพร่ (จังหวัดละ 11 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ แพร่ (12 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กาญจนบุรี (3 ราย)

6620b0b7325352.85225248.jpg

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วันของการรณรงค์ (11 – 17 เม.ย. 67) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,044 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 2,060 คน ผู้เสียชีวิต รวม 287 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 7 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (82 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ แพร่ (80 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (17 ราย)

6620b120c8b483.44172593.jpg

นายอนุทิน  ชาญวีรกูล กล่าวว่า แม้จะสิ้นสุดการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 แล้ว ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจะได้ประสานจังหวัด ศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนอำเภอ เขต (กทม.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับภาคประชาชน จิตอาสา และอาสาสมัครในพื้นที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงทั้งด้านคน ยานพาหนะ ถนน และสภาพแวดล้อมไม่ว่าจะเป็นการแนะนำ ตักเตือน ป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงหลัก อาทิ ขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ตัดหน้ากระชั้นชิด และการไม่สวมหมวกนิรภัย การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กและเยาวชนในประเด็นการลดปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ควบคู่ไปกับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม ศปถ. ตั้งเป้าหมายภาพรวมของประเทศในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศให้เหลือ 12 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนภายในปี พ.ศ. 2570