“พิธา” เผยชีวิตทางการเมืองแขวนอยู่บนเส้นด้าย หากพรรคก้าวไกลถูกยุบ ยิ่งทำให้เส้นชัยใกล้กว่าเดิม

View icon 113
วันที่ 5 เม.ย. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“พิธา” ยอมรับ อาจได้อภิปรายรัฐบาลครั้งสุดท้ายในชีวิต ไม่คิดเสียใจ ไม่มีอะไรติดค้าง หากพรรคก้าวไกลถูกยุบ

การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 วันสุดท้าย (4เม.ย.67) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เป็นผู้อภิปรายปิดคนสุดท้ายของฝ่ายค้าน ระบุ ตลอดระยะเวลา 7 เดือนที่ผ่านมาไม่เคยเสียใจเลยที่ไม่ได้เป็นผู้บริหารแม้จะชนะเลือกตั้ง สามารถรวบรวมเสียงได้ 312 เสียง ไม่เคยเสียใจที่เข้ามาเป็นฝ่ายค้าน และ ไม่เคยเสียใจว่าการอภิปรายในครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิต และ พร้อมที่จะเดินจากไปอย่างผู้ชนะ ไม่มีอะไรติดค้างใจต่อไป และ มั่นใจว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรค การทำลายพรรค จะไม่ทำให้การเดินทางสู่การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหายไป และ ยิ่งยุบพรรคจะยิ่งทำให้พวกเราไปถึงเส้นชัยที่ต้องการได้เร็วขึ้น

“ไม่เคยเสียใจด้วยครับ ว่าการอภิปรายครั้งนี้ อภิปราย152 ครั้งนี้ อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตการเมืองผม ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นความลับอะไร ทุกคนก็ทราบดีอยู่ว่า ชีวิตทางการเมืองของผมก็แขวนอยู่บนเส้นด้าย แต่ผมพร้อมที่จะเดินจากไปอย่างผู้ชนะครับ ไม่มีอะไรติดค้างใจต่อไป" นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวอีกว่า รู้สึกเสียดาย เมื่อได้ฟังการชี้แจงของรัฐบาลในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ยิ่งเสียดายโอกาสของประเทศ เสียดายเวลาประเทศไทยที่ต้องเสียไป เสียดายศรัทธาของประชาชน และ เสียดายตัวเองที่เคยเป็นคนที่ลงคะแนนให้กับพรรคไทยรักไทยมาตั้งแต่ปี 2543 เพราะวันนี้รัฐบาลเต็มไปด้วยความสะเปะสะปะ ที่หาเสียงไว้แล้วไม่ได้ทำ ส่วนที่ทำก็ไม่ได้หาเสียงไว้ จนอดรู้สึกไม่ได้ว่ารัฐบาลนี้ไม่มีวาระเป็นของตัวเอง ไร้วิสัยทัศน์ และไร้ผลงาน หากนายกรัฐมนตรีงงกับฝ่ายค้านว่าพูดแต่เรื่องเดิม ฝ่ายค้านก็งงกับรัฐบาลที่พูดไม่เหมือนเดิมเช่นกัน

นอกจากนี้ นายพิธาได้ฝากข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล 3 ข้อ ดังนี้
1) ถ้าอยากจะกอบกู้ภาวะผู้นำของรัฐบาล ตนคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องมีการปรับ ครม.ได้แล้ว วางคนที่เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องเข้ามาทำงานจริง ที่ผ่านมา 7 เดือนก็พอจะทำให้เห็นภาพได้แล้วว่าใครที่มีประสิทธิภาพ และใครที่ไม่มีประสิทธิภาพ
2) ถึงเวลาแล้วที่นายกรัฐมนตรีจะต้องมีโรดแมป วิสัยทัศน์ที่นายกรัฐมนตรีแถลงมา 8 ฮับ พูดอีกก็ถูกอีก หลายเรื่องพูดมา 20 กว่าปีแล้วก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะพูดแค่ว่าจะทำอะไร แต่ไม่ได้บอกว่าจะทำอย่างไรและเมื่อไหร่ ท่านต้องมีโรดแมปว่าในช่วงไตรมาสนี้จะทำอะไร ปีนี้จะทำอะไร สมัยนี้จะทำอะไร ซึ่งจะทำให้คนที่อยากจะช่วยท่านเห็นภาพร่วมกัน และทำให้การขับเคลื่อนเกิดผลลัพธ์ได้จริง
3) สิ่งที่สำคัญของคนที่เป็นผู้นำในศตวรรษที่ 21 คือการ “ฟัง” ซึ่งขอแนะนำนายกรัฐมนตรีว่าต้องฟังเพื่อที่จะตอบสนอง ไม่ใช่ฟังเพื่อที่จะตอบโต้ตลอดเวลา เพราะบางครั้งเสียงที่ท่านไม่อยากได้ยินก็คือเสียงที่ประเสริฐที่สุด ตามที่ท่านเคยได้กล่าวเอาไว้