ตะลึง! ชาวบ้านพบอุโมงค์หลบภัย คาดทำขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

View icon 211
วันที่ 31 มี.ค. 2567
ข่าวในประเทศ
แชร์
ค้นพบอุโมงค์หลบภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะสร้างทางรถไฟสายมรณะ ด้านชาวบ้านเรียกร้องหน่วยงานรัฐเร่งเข้าทำการศึกษาเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

วันนี้ (31 มี.ค. 67) ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่บ้านซองกาเลีย หมู่ที่ 8 ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี เพื่อสำรวจอุโมงค์ที่คาดว่าน่าจะถูกขุดขึ้นมาในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อครั้งที่กองทัพญี่ปุ่น เกณฑ์เชลยศึกและกรรมกรมาสร้างทางรถไฟสายมรณะ (สถานีชุมทางหนองปลาดุก (ไทย)-สถานีตันบูซายัต)

โดยอุโมงค์ดังกล่าวตั้งอยู่ริมถนนทางหลวง 323 สายสังขละบุรี-ด่านเจดีย์สามองค์ อยู่บนเนินเขาห่างจากถนนประมาณ 100 เมตร
โดยอุโมงค์ที่พบมีความกว้างประมาณ 2 เมตร สูง 180-190 เซนติเมตร ยาวประมาณ 35 เมตร เป็นอุโมงค์ที่เจาะทะลุเนินเขาเพื่อเชื่อมไปยังพื้นที่ด้านหลังซึ่งเป็นพื้นที่ป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์

ภายในอุโมงค์มีอุณหภูมิที่เย็นสบาย อากาศถ่ายเทได้ดี มีลมพัดเย็น คาดเป็นอุโมงค์ที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมนุษย์ เนื่องจากมีร่องรอยการใช้อีเตอร์ ชะแลง และจอบในการขุด ซึ่งอุโมงค์ดังกล่าวยังอยู่ในลักษณะที่ค่อนข้างสมบูรณ์ พบการถล่มของดินเฉพาะบริเวณปากอุโมงค์ทั้ง 2 ด้านของเนินเขา คาดว่าน่าจะใช้เป็นที่หลบภัยสำหรับป้องการการโจมตีทางอากาศในช่วงการก่อสร้างทางรถไฟ และน่าจะมีการใช้งานอุโมงค์ในช่วงสงคราม

เนื่องจากพบคราบของควันติดอยู่ผนังอุโมงในส่วนที่เจาะผนังเข้าไปสำหรับเป็นที่วางตะเกียง เพื่อเป็นไฟส่องสว่างภายในอุโมงค์ ส่วนหนึ่งที่ทำให้อุโมงค์ยังคงมีความแข็งแรงเนื่องจากการออกแบบการขุดภายในอุโมงค์ให้มีลักษณะคล้ายเสาทุกระยะ 2 เมตร ตลอดภายในอุโมงค์ ประกอบกับพื้นดินบริเวณที่ขุดอุโมงค์เป็นชั้นดินดานที่มีความแข็งกว่าดินทั่วไป

ทั้งนี้อุโมงค์ดังกล่าวเป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่บางกลุ่มที่มีความสนใจ แต่ยังไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป นายมานชัย วัฒนการัณย์ และนายศราวุธ ไทรสังข์สิริพงศ์ ชาวอำเภอสังขละบุรี ที่สนใจศึกษาเส้นทางรถไฟมรณะในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเข้าทำการสำรวจ ศึกษา เพื่อทำการอนุรักษ์ และพัฒนาให้เป็นสถานที่เรียนรู้และท่องเที่ยวให้แก่เยาวชน ประชาชนและนักท่องเที่ยว เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง