อัตราดอกเบี้ยไทย เกือบจะต่ำที่สุดในโลก

View icon 74
วันที่ 23 มี.ค. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด สรุปอัตราดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลก ที่รวบรวมโดยเว็บไซต์ Trading Economics พบว่าหลายประเทศทั่วโลกยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้โดยไม่เปลี่ยนแปลงในการประชุมพิจารณาอัตราดอกเบี้ยล่าสุดของธนาคารกลางของแต่ละประเทศ มีเพียงประเทศที่กำลังประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่ มีส่วนน้อยที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ตุรกี (ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 45% เป็น 50%) และ เวเนซูเอลา (ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 57.84% มาอยู่ที่ 58.59%)

ในทวีปเอเชีย มีเพียงประเทศกัมพูชาที่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.91% มาอยู่ที่ 0.83% ในขณะที่ สิงคโปร์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.1% มาอยู่ที่ 3.49% และไต้หวันปรับขึ้นจาก 1.88% เป็น 2%

นอกเหนือจาก 3 ประเทศนี้ ประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียต่างคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้คงเดิม เช่น

ลาว อิรัก จอร์แดน คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 7.5% เนปาล พม่า มัลดีฟ คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 7%
ภูฎาน คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 6.85%
ฟิลิปปินส์ อินเดีย และบังคลาเทศ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 6.5%
บาห์เรนและกาตาร์ คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 6.25%
อินโดนีเซีย โอมานและซาอุดิอาระเบีย คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 6%
ฮ่องกงและมาเก๊า คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 5.75%
บรูไน คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 5.5%
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 5.4%
เวียดนามและอิสราเอล คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 4.5%
คูเวต คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 4.25%
จีน คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 3.45%
เกาหลีใต้ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเช่นกัน อยู่ที่ 3.5%
มาเลเซีย คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3%
ไทย คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ในการประชุมกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2567

เมื่อดูนโยบายทางการเงินของประเทศต่างๆ ในทวีปอื่น ก็พบว่าส่วนใหญ่มีการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงเพราะระดับราคาเชื้อเพลิงที่สูงต่อเนื่องมานาน เช่น

รัสเซีย คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 16%
เม็กซิโก คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 11.25%
แอฟริกาใต้ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 8.25%
สหรัฐอเมริกา คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 5.5%
สหราชอาณาจักร คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25%
แคนาดา คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 5%
ยูโรโซนและประเทศนอร์เวย์ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 4.5%
ออสเตรเลีย คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 4.35%
สวีเดน คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 4%
เดนมาร์ก คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 3.6%

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พบในประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายค่อนข้างสูง มีภาวะเงินเฟ้อรุนแรง หรือมีวิกฤตเศรษฐกิจ-การเงิน อาทิ

อาร์เจนตินา ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 100% มาอยู่ที่ 80%
บราซิล ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 11.25% มาอยู่ที่ 10.75%
ยูเครน ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 15% เป็น 14.5%
ยกเว้นประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.75% มาอยู่ที่ 1.5%

จะเห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก ประเทศไทยมีอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เกือบจะต่ำที่สุด มีเพียงไม่กี่ประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าไทย ได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น และกัมพูชา