“ศุภมาส” มอบนโยบาย ทปอ. เปิดเผยข้อสอบ TCAS ปีเก่า ให้นักเรียนรู้แนวข้อสอบ ลดภาระค่าใช้จ่ายเรียนติว ลดเหลื่อมล้ำ

View icon 49
วันที่ 15 มี.ค. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ห่วงเหลื่อมล้ำ “ศุภมาส” มอบนโยบาย ทปอ. เปิดเผยข้อสอบ TCAS ปีเก่า ทุกรายวิชา ให้นักเรียนรู้แนวข้อสอบ ลดภาระค่าใช้จ่ายเรียนติว สร้างความเท่าเทียมให้ทุกคนสอบเข้ามหาวิทยาลัย

วันนี้ (15 มี.ค.67) น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ตนได้มอบแนวนโยบายให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางในการจัดทำระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) ร่วมมือกับกระทรวง อว. เปิดเผยข้อสอบในรายวิชาต่างๆ ที่มีการจัดสอบในระบบ TCAS ของปีที่ผ่านมา เพื่อให้นักเรียนได้ทราบแนวข้อสอบ นอกเหนือจากพิมพ์เขียว (Blueprint) ของข้อสอบที่ระบบ TCAS ได้นำเสนอผ่านเว็บไซต์ https://www.mytcas.com/  โดยขอให้ร่วมคิดวิธีการที่จะเปิดเผยข้อสอบอย่างไร ระยะเวลาใด ที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อนักเรียน พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูผู้สอนในโรงเรียน

ทั้งนี้ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในเกือบทุกครอบครัวมองว่าเป็นวาระแห่งชาติ เพราะหมายถึงอนาคตของเด็ก ซึ่งผู้ปกครองและนักเรียนต่างทุ่มเทและวางแผนชีวิตกันล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 3 ปี กลุ่มที่มีโอกาสทางสังคมสูงกว่าก็จะมีโอกาสได้ศึกษาในหลักสูตรที่ใช่ มหาวิทยาลัยที่ชอบ มากกว่ากลุ่มที่ขาดโอกาสการเข้าถึง ด้วยข้อจำกัดทางสังคมและเศรษฐกิจในสังคมไทย จึงมีค่านิยมเรื่องการเลือกเรียนที่มหาวิทยาลัยชื่อดัง เพราะเมื่อจบการศึกษาก็จะมีโอกาสได้งานทำหรือศึกษาต่อในต่างประเทศได้มากกว่า แม้ว่า TCAS จะออกแบบระบบให้รองรับความรู้ ความสามารถ และศักยภาพของผู้เรียนได้อย่างหลากหลาย โดยดูจากรอบของการคัดเลือกที่เปิดให้มีหลายรอบ ได้แก่ รอบ 1 (พอร์ตโฟลิโอ) สำหรับผู้มีประวัติ ผลงงาน ความสามารถโดดเด่น รอบ 2 (โควตา) สำหรับผู้เรียนในพื้นที่ รอบ 3 (แอดมิชชัน) เป็นรอบที่ใช้คะแนนจากผลการสอบรายวิชานำมาเป็นเกณฑ์สำคัญในการคัดเลือก โดยการสอบรายวิชาที่กำหนดให้มีรายวิชาความถนัดทั่วไป (TGAT) รายวิชาความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (TPAT) และรายวิชาเชิงวิชาการ (A-level) ซึ่งทาง ทปอ. จัดให้เป็นการสอบระดับชาติ จัดสอบพร้อมกันทั่วประเทศทุกจังหวัด โดยเป็นรอบที่นักเรียนให้ความสนใจมากที่สุดจากจำนวนหลักสูตร และมีจำนวนที่นั่งที่รองรับไว้กว่า 2 แสนที่นั่ง จาก 60 สถาบันอุดมศึกษา

“แต่จุดสำคัญของปัญหา (Pain Point) ที่สังคมเรียกร้องมาโดยตลอด คือ ความต้องการที่จะเห็นข้อสอบในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการซื้อขายข้อสอบที่ไม่แน่ใจว่าใช่หรือไม่ หรือได้ข้อสอบมาจากโรงเรียนกวดวิชา เกิดรายได้จำนวนมากให้โรงเรียนกวดวิชาที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในทุกพื้นที่ของประเทศ จนเป็นค่านิยมของสังคมไทยว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยนี้ต้องเรียนจากโรงเรียนกวดวิชานี้เท่านั้นสร้างแบรนด์ของโรงเรียนกวดวิชาได้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษามากขึ้นทุกปี” น.ส.ศุภมาส กล่าว

ผลของการเปิดเผยข้อสอบนี้ คาดว่าจะเกิดประโยชน์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มนอกเหนือจากตัวนักเรียนเองที่จะเกิดความเสมอภาคทางสังคม ในการเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาแล้ว กลุ่มครูผู้สอนในโรงเรียนก็ยังได้ศึกษาเนื้อหาข้อสอบเพื่อนำไปปรับปรุงเนื้อหา และกระบวนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของนักเรียนที่มีศักยภาพและความพร้อมที่จะเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา พร้อมกันนี้ จะขอความร่วมมือจาก ทปอ. ได้ช่วยเหลืออบรมครูผู้สอนให้มีความรู้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมต่อไปด้วย ในส่วนของผู้ปกครองก็คงจะสบายใจและลดภาระทางเศรษฐกิจได้บ้าง กับการเตรียมความพร้อมให้ลูกหลานได้เข้าถึงระบบอุดมศึกษาได้ง่ายขึ้น  เป็นการนำอนาคตที่ดีมาไว้ในมือของเยาวชนได้อย่างทั่วถึง ขณะที่สถาบันอุดมศึกษาก็จะได้ผู้เรียนที่มีความพร้อมและศักยภาพที่จะเรียนจบในหลักสูตรเป็นกำลังสำคัญที่ตรงกับความต้องการของประเทศ