ผลสำรวจสวนดุสิตโพล ดัชนีการเมืองไทยเดือน ก.พ. ปัญหา ศก. โดดเด่นกว่าการเมือง แก้จน-ยาเสพติด ได้คะแนนไม่ผ่านครึ่ง สะท้อน ปชช.คาดหวังให้แก้ปัญหาเศรษฐกิจแบบเห็นผลในเร็ววัน
วันนี้ (1 มี.ค.67) น.ส.พรพรรณ บัวทอง นักวิจัยสวนดุสิตโพล สรุปผลการสำรวจดุสิตโพล เรื่อง “ดัชนีการเมืองไทย” เดือนกุมภาพันธ์ 2567 โดยสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 2,335 คน เป็นการสำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม พบว่า กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนภาพรวมดัชนีการเมืองไทยประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567 เฉลี่ย 5.16 คะแนน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนมกราคม 2567 ที่ได้ 5.48 คะแนน
ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ผลงานของฝ่ายค้าน เฉลี่ย 5.52 คะแนน ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนต่ำสุด คือ การแก้ปัญหาความยากจน เฉลี่ย 4.78 คะแนน นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน คือนายเศรษฐา ทวีสิน ร้อยละ 51.15 นักการเมืองฝ่ายค้านที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 68.41 ส่วนผลงานฝ่ายรัฐบาลที่ประชาชนชื่นชอบประจำเดือน คือ แก้หนี้นอกระบบ ร้อยละ 41.67 ผลงานฝ่ายค้านที่ชื่นชอบประจำเดือน คือ การตรวจสอบโครงการต่าง ๆ เช่น ดิจิทัลวอลเล็ต ร้อยละ 57.93
ทั้งนี้จากผลสำรวจจะเห็นได้ว่ากลุ่มตัวอย่างให้คะแนนดัชนีการเมืองไทยเดือนกุมภาพันธ์ลดลงทุกตัวชี้วัด โดยเฉพาะตัวชี้วัดด้านราคาสินค้า การว่างงาน ความยากจน และปัญหายาเสพติดที่ได้คะแนนไม่ผ่านครึ่ง สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาเศรษฐกิจยังคงเป็นปัญหาที่ประชาชนคาดหวังและต้องการให้แก้ไขแบบเห็นผลในเร็ววัน ในขณะที่ฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานอย่างละเอียดและต่อเนื่อง รัฐบาลจึงต้องเร่งสร้างผลงานด้วยเช่นกัน
ผศ.ยอดชาย ชุติกาโม ประธานหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิตโรงเรียนกฎหมายและการเมือง ม.สวนดุสิต มองว่าสถานการณ์ทางการเมืองในเดือนนี้ไม่มีความเคลื่อนไหวที่โดดเด่นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน มีปฏิสัมพันธ์กับสื่อมวลชนด้วยความระมัดระวังในการสื่อสารมากขึ้น และเน้นการลงพื้นที่ทำงาน ซึ่งนายกฯ ได้คะแนนถึงร้อยละ51.15 ขณะที่การครองพื้นที่สื่อเดือนนี้ยังเป็นข่าวของฝ่ายค้าน โดยตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ผลงานของฝ่ายค้าน เฉลี่ย 5.52 คะแนน นายพิธาซึ่งเพิ่งกลับสู่สถานภาพการเป็น สส. ได้คะแนนถึงร้อยละ 68.41 ที่น่าสนใจคือผลงานตรวจสอบในเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตของฝ่ายค้าน ที่ได้คะแนนถึงร้อยละ 57.93
ในเดือนนี้ปัญหาเศรษฐกิจกลับมีความโดดเด่นมากกว่าปัญหาการเมือง รัฐบาลต้องเร่งประชาสัมพันธ์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจซึ่งผลงานยังไม่เป็นที่พึงพอใจของประชาชน เห็นได้จากตัวชี้วัดที่คะแนนต่ำสุดคือ การแก้ไขปัญหาความยากจน เฉลี่ย 4.78 คะแนน สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะทางเศรษฐกิจของประชาชนส่วนใหญ่ยังมีปัญหาอยู่มาก แม้ว่าตัวเลขความพึงพอใจในการแก้หนี้นอกระบบจะสูงถึงร้อยละ 41.67 ก็ตาม