เตือน! แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกสโผล่เกลื่อนหาดชลาทัศน์

View icon 141
วันที่ 27 ก.พ. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ผวา! ปรากฎการณ์แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกสโผล่เกลื่อนหาดชลาทัศน์ ขณะที่นายกเทศมนตรีเมืองสงขลาสั่งเฝ้าระวังเข้มส่งไลฟ์การ์ดดูแลเชิงรุก หวั่นนักท่องเที่ยวได้รับอันตราย

เตือนแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส วันนี้ (27 ก.พ.67) จากกระแสในโลกโซเชียลเตือนภัยแมงกะพรุนหาดชลาทัศน์ จ.สงขลา พบมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกพิษแมงกะพรุนหลายรายทั้งในพื้นที่ อ.สิงหนคร มาจนถึงที่ อ.เมือง จ.สงขลา ตลอดแนวหาดชลาทัศน์

ล่าสุดวันนี้ ที่หาดชลาทัศน์ จ.สงขลา ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจบริเวณริมหาดพบว่ามีแมงกะพรุนสายพันธุ์ ไฟหมวกโปรตุเกส ลักษณะเด่น หัวมีสีขาวเหมือนหมวกทหารเรือรบโปรตุเกสโบราณ ลำตัวมีสีน้ำเงิน มีพิษร้ายแรง โดยเฉพาะคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หากไปโดนพิษแมงกะพรุนชนิดนี้ อาจจะทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต พบมากในช่วงมรสุม ส่งผลให้ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลในห้วงเวลานี้ พบแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส ถูกคลื่นซัดเข้ามาบริเวณชายหาดต่างๆ ตลอดแนวทั้งจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี สงขลา กระบี่ ภูเก็ต

ด้านนายวันชัย ปริญญาศิริ นายกเทศมนตรีนครสงขลา เปิดเผยว่า ปรากฎการณ์ของแมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส จริงๆ เจอกันเป็นประจำทุกๆ ตามฤดูกาล แต่ปีนี้จากการสำรวจพบว่ามีมากกว่าปีก่อนๆมาก ตั้งแต่ริมหาดตลอดแนวไปจนถึงกลางทะเลใกล้เกาะหนูเกาะแมว ซึ่งขณะนี้ตนได้ให้เจ้าหน้าที่ไลฟ์การ์ดประชาสัมพันธ์และเฝ้าระวังเชิงรุก และห้าม นทท.ลงเล่นน้ำ หากพบมีผู้ถูกพิษแมงกะพรุนชนิดนี้ก็จะเร่งให้ไลฟ์การ์ดปฐมพยาบาลเบื้องต้นและนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที โดยระหว่างนี้ไปจนถึงต้นเดือนเมษายน ก็ยังจะพบแมวกะพรุนไฟโปรตุเกสอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามก็ต้องขอความร่วมมือประชาชนและนักท่องเที่ยวระมัดระวังในการลงเล่นน้ำ หากพบแมงกะพรุนไฟดังกล่าวอย่าเข้าใกล้เด็ดขาดและหากโดนพิษให้เร่งเอาน้ำส้มสายชูราดที่ผิวหนังทันที ซึ่งทางเทศบาลนครสงขลามีบริการไว้ตามจุดต่างๆ ตลอดแนวหาดแล้ว

สำหรับแมงกะพรุนไฟเรือรบโปรตุเกส (Portuguese man-of-war) เป็นแมงกะพรุนไฟสายพันธุ์ Physalia มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “แมงกะพรุนไฟหมวกโปรตุเกส” จัดเป็นแมงกะพรุนไฟที่มีพิษร้ายแรงที่สุดในโลก มีลําตัวสีชมพูม่วง น้ำเงิน หรือเขียว ยาวประมาณ 25-30 เซนติเมตร รูปร่างของร่มแมงกะพรุนมีลักษณะคล้ายเรือใบ


65dd602868a132.24280784.jpg

ลักษณะภายนอกของลําตัวมีปากยื่นยาวออกมาจากลําตัว และมีหนวด (ยาวได้มากถึง 30 เมตร) ออกมาจากขอบร่มเป็นสายยาว โดยปกติจะไม่พบในน่านน้ำไทย ส่วนใหญ่จะพบในทะเลเปิดของมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน มหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย แต่จะอาจจะถูกกระแสน้ำพัดมาเกยตื้นหรือเข้าสู่น่านน้ำไทยได้ในบางฤดูกาล