GDP โต 1.9% สะท้อนเศรษฐกิจชะลอตัวจริงหรือไม่?

View icon 90
วันที่ 25 ก.พ. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
#เศรษฐศาสตร์ตลาดสด อยากชวนทุกคนลองทำความเข้าใจกับที่มาที่ไปของตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย หรือที่เราเรียกกันว่า “อัตราการเติบโตของ GDP” ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

ในปี 2566 อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (หรืออัตราการขยายตัวของ GDP) อยู่ที่ 1.9% ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 2.5% - ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังคงขยายตัว โดยตัวเลข GDP ในปี 2566 สูงกว่าปี 2565 อยู่ 1.9%

แม้ว่าจะมีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 8 ครั้งในรอบ 1 ปี จนอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 ปี ที่ 2.5% ประเทศไทยในปี 2566 ยังคงมีการบริโภคของภาคเอกชนที่เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง +7.1% (สูงกว่าอัตราการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน +6.2% ในปีก่อนหน้า) และมีการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น +3.2% (ต่ำกว่าการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนอยู่ที่ +4.7% ในปีก่อนหน้า)

แสดงว่าให้เห็นว่าการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยไม่ได้ส่งผลเชิงลบต่อการบริโภคของภาคเอกชน แต่ทำให้การลงทุนของภาคเอกชนมีการชะลอตัวลงเล็กน้อย ทั้งนี้การชะลอตัวลงอาจเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงกลางปีด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2565 และปี 2566 ก็จะเห็นว่าตัวเลขล่าสุดต่ำกว่าของปีที่แล้ว ทั้งนี้มี 2 เหตุผลหลัก คือ

เหตุผลแรก เป็นไปตามตัวเลขสถิติและที่หลายหน่วยงานอธิบาย นั่นคือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวนี้ เป็นผลมาจากการอุปโภคและการลงทุนของภาครัฐที่ลดลง 4.6% เนื่องจากในปีที่ผ่านมามีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่

ด้วยกระบวนการจัดตั้งรัฐบาลที่ใช้เวลานาน ทำให้มีความไม่แน่นอนทางการเมืองนานร่วมครึ่งปี อีกทั้งแม้จัดตั้งรัฐบาลแล้ว แต่การออกใช้แผนการลงทุนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ล่าช้า ทำให้เกิดการชะลอการใช้จ่ายและการลงทุนทั้งก่อนและหลังการเลือกตั้ง

อีกทั้งในปี 2566 การส่งออกเพิ่มขึ้นเพียง +2.1% (ต่ำกว่า +6.1% ในปีก่อนหน้า) แม้ว่าการนำเข้าลดลง -2.2% (ในปี 2565 มีการขยายตัวของการนำเข้าอยู่ที่ 3.6%)

เหตุผลที่สอง เป็นเหตุจากการคำนวณตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจชองปี 2565 เป็นการเปรียบเทียบตัวเลข GDP ที่แท้จริง (ณ ระดับราคาคงที่) ในปี 2564 และ 2565

หากทุกคนยังคงจำกันได้ ปี 2564 เป็นปีที่ไทยมีการระบาดของโควิด 19 สายพันธุ์ Alpha และ Delta จนมีผู้ติดเชื้อถึงวันละเป็นหมื่นคน  อัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นจนแตะระดับ 2 หมื่นคน และบริษัทประกันบางแห่งต้องประกาศยกเลิกกรมธรรม์ประกันโควิดทั้งหลายหรือเลิกกิจการไปในที่สุด และรัฐบาลก็ต้องออกมารับผิดชอบการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อทุกราย จึงทำให้ปี 2564 GDP ของไทยมีมูลค่า 14.73 ล้านล้านบาท และมีมูลค่า GDP ณ ระดับราคาคงที่ อยู่ที่ 10.41 ล้านล้านบาท (ปี 2562 ก่อนมีการระบาดโควิด 19 ประเทศมีมูลค่า GDP อยู่ที่ 15.20 ล้านล้านบาท และมูลค่า GDP ณ ระดับราคาคงที่ อยู่ที่ 10.92 ล้านล้านบาท)

ในขณะที่ตัวเลข GDP ปี 2565 อยู่ที่ 15.94 ล้านล้านบาท (มูลค่า GDP ณ ระดับราคาคงที่ อยู่ที่ 10.68 ล้านล้านบาท) หลังมีการระบาดโควิด 19 ลดลง และมีการเปิดประเทศโดยยกเลิกมาตรการการควบคุมการเดินทางเข้าประเทศไทย รวมถึงมีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย เมื่อเทียบกับปี  2564 ที่มีตัวเลข GDP ต่ำ ย่อมมีตัวเลขอัตราการเติบโตของ GDP ที่สูง (+2.5%) แต่ GDP ณ ระดับราคาคงที่ในปี 2565  ยังคงอยู่ต่ำกว่าปี 2562 (-2.2%)

แม้ว่าตัวเลข GDP ของปี 2566 เข้าใกล้ระดับก่อนการระบาดโควิด 19 มากกว่าปี 2565 แต่เมื่อเอาตัวเลข GDP ณ ระดับราคาคงที่ ของปี 2566 ซึ่งอยู่ที่ 10.89 ล้านล้านบาท เทียบกับ GDP ปี 2565 ที่มีการกลับมาของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว ย่อมมีอัตราการขยายตัวของ GDP ของปี 2566 ต่ำกว่าของปี 2565 

ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวลง ก็อาจจะด่วนสรุปจนเกินไป เพราะเมื่อดูตัวเลขครึ่งปีแรกและครึ่งปีหลังของ 2566 พบว่าการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการส่งออกมีอัตราการขยายตัวในครึ่งปีหลังสูงกว่าครึ่งปีแรก ดังนั้นหากภาครัฐกลับมาใช้จ่ายและลงทุนเป็นปกติในปี 2567 ตัวเลขการขยายตัวของ GDP ในส่วนของภาครัฐก็จะไม่ติดลบอีกต่อไป และจะเป็นแรงผลักให้ GDP เติบโตได้มากกว่าปีที่ผ่านมา

65daa47617c711.02721083.png

ข่าวที่เกี่ยวข้อง