"เรืองไกร" ร้องป.ป.ช. สอบผู้ว่า ธปท. - นายกฯ
แชร์
เรืองไกร พบข้อสังสัย ร้อง ป.ป.ช. สอบผู้ว่า ธปท. กับ นายกรัฐมนตรี ได้ยื่นบัญชีตามหลักเกณฑ์ ป.ป.ช. แตกต่างกัน หรือไม่
วันนี้ ( 19 ก.พ. 67 ) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า หลังจากใช้เวลาตรวจสอบเปรียบเทียบบัญชีทรัพย์สินของผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย กับบัญชีทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรี ที่ยื่นไว้ต่อ ป.ป.ช. ซึ่งต้องใช้ความรู้ทางบัญชี ภาษี มาช่วยด้วย พบว่า มีเหตุอันควรสงสัยบางรายการและน่าจะมีนัยสำคัญ จึงได้ยื่นหนังสือไปให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย กับ นายกรัฐมนตรีว่ามีการแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ยอดรายได้ ยอดเสียภาษี แตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร และเป็นการแจ้งโดยถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของ ป.ป.ช. หรือไม่ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2563 โดยระบุข้อความบางส่วนที่ควรขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ ดังนี้
นายเศรษฐพุฒิ แจ้งรายได้ต่อปี (โดยประมาณ) รายได้ประจำ (1) เงินเดือน ค่าตอบแทน ค่าจ้างให้อบรม 10,000,000 บาท (2) เงินบำนาญ 1,900,000 บาท แต่ไม่พบข้อมูลการแจ้งเงินได้พึงประเมิน
นายเศรษฐพุฒิ แจ้งบัญชีรายการสิทธิและสัมปทานของตนเองไว้ 2 รายการ มูลค่ารวม 1,151,500 บาท
ข้อ 2. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ครบสามปี เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2566 โดยระบุข้อความบางส่วนที่ควรขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ ดังนี้
นายเศรษฐพุฒิ แจ้งรายได้ต่อปี (โดยประมาณ) รายได้ประจำ (1) เงินเดือน 13,338,859.96 บาท (2) ค่าเบี้ยประชุม 4,720,000 บาท (3) เงินบำนาญ 2,344,288.52 บาท แต่แจ้งเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร 5,396,420.99 บาท ทำให้เกิดข้อสงสัยอันควรตรวจสอบว่า ยอดรายได้ที่แจ้งในช่วงระหว่างสามปี ทำไมแตกต่างจากยอดเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร จำนวนมาก
นายเศรษฐพุฒิ แจ้งบัญชีรายการสิทธิและสัมปทานของตนเองไว้ 6 รายการ มูลค่ารวม 17,332,596.35 บาท โดยลำดับที่ (14) คือ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานกลุ่ม ธ.ไทยพาณิชย์ (คงเงิน) วัน/เดือน/ปี ที่ได้มา 2551-2555 จำนวน 4,689,765.04 บาท ซึ่งหากระบุว่าได้มาระหว่างปี 2551-2555 ทำให้เกิดข้อสงสัยอันควรตรวจสอบว่า ในกรณีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2563 ควรแจ้งด้วยหรือไม่
ข้อ 3. นายเศรษฐา ทวีสิน ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2566 โดยระบุข้อความบางส่วนที่ควรขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ ดังนี้
นายเศรษฐา แจ้งรายได้ต่อปี (โดยประมาณ) 1. รายได้ประจำ (1) เงินเดือนค่าจ้างและโบนัส 153,570,160 บาท (2) เงินบำนาญชราภาพ 45,694 บาท (3) เบี้ยประชุมและค่าวิทยากร 185,000 บาท 2. รายได้จากทรัพย์สิน (5) เงินได้จากการสิ้นสุดสมาชิกภาพในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 65,200,328.80 บาท 5. รายได้อื่น (1) เงินชดเชยกรณีเกษียณอายุ 13,333,333 บาท แต่แจ้งเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร 72,865,237.11 บาท ทำให้เกิดข้อสงสัยอันควรตรวจสอบว่า ยอดรายได้ที่แจ้ง ทำไมแตกต่างจากยอดเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรจำนวนมาก และมีการแจ้งยอดรายได้ในส่วนของเงินเดือนนายกรัฐมนตรีไว้ด้วยหรือไม่
นายเศรษฐา แจ้งบัญชีรายการสิทธิและสัมปทานของตนเองไว้ 6 รายการ มูลค่ารวม 87,539,563.78 บาท โดยลำดับที่ (2) คือ เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาสเตอร์ฟันก์ วัน/เดือน/ปี ที่ได้มา 15 ก.พ. 2533 วัน/เดือน/ปี ที่สิ้นสุด 5 ก.ย. 2566 จำนวน 65,200,328.80 บาท ซึ่งเป็นยอดจำนวนที่ตรงกันกับการแจ้งรายได้จากทรัพย์สิน (5) เงินได้จากการสิ้นสุดสมาชิกภาพในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 65,200,328.80 บาท ทำให้เกิดข้อสงสัยอันควรตรวจสอบว่า ยอดที่แจ้งไว้ทั้งสองรายการคือเป็นทั้งรายได้และเป็นทรัพย์สินนั้น เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ ป.ป.ช. หรือไม่ มีการนำไปเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ และต่างจากการแจ้งของนายเศรษฐพุฒิ ในฐานะผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างไร หรือไม่