ลูกพญาแร้งฟักจากไข่ได้สำเร็จ หลังสูญพันธุ์จากป่านานกว่า 30 ปี

View icon 193
วันที่ 10 ก.พ. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
กรมอุทยานฯ ร่วม องค์การสวนสัตว์ฯ ทำได้สำเร็จ ฟักไข่ลูกพญาแร้ง ในพื้นที่ห้วยขาแข้ง หลังสูญพันธุ์จากป่านานกว่า 30 ปี

พญาแร้ง วานนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2567) นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากนายเพิ่มศักดิ์ กนิษฐชาติ หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี  เกี่ยวกับโครงการการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย โดยได้รับข่าวดีหลังจาก "ป๊อก" พญาแร้งตัวผู้จากสวนสัตว์โคราช และ "มิ่ง" พญาแร้งตัวเมียจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง วางไข่ใบแรก โดยทั้งสองได้เริ่มมีพฤติกรรมขึ้นผสมพันธุ์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2566 จนในที่สุดมิ่งวางไข่ใบแรกที่เกิดในป่าห้วยขาแข้งได้สำเร็จ เป็นลูกพญาแร้งตัวแรกในถิ่นอาศัยเดิม

ล่าสุด ภาพจากกล้องวงจรปิดได้จับภาพขณะลูกน้อยได้กะเทาะเปลือกไข่ออกมาลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรกแล้ว ณ หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เป็นลูกพญาแร้งตัวแรกในถิ่นอาศัยเดิม หลังสูญพันธุ์ไปจากป่าธรรมชาติกว่า 30 ปี นับเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญของโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งฯ

ทั้งนี้ พญาแร้งเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของผืนป่าไทยกว่าสามทศวรรษ จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้มีโครงการฟื้นฟูพญาแร้งในถิ่นอาศัยเดิม สำหรับโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย ชื่อ "ป๊อก" และ "มิ่ง" หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563-30 ก.ย.2568 ได้เคลื่อนย้ายพญาแร้งเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา