สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่จังหวัดนครสวรรค์

View icon 1.0K
วันที่ 18 ม.ค. 2567
ข่าวในพระราชสำนัก
แชร์
เวลา 09.16 น. วันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ทรงเปิด "โครงการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เพื่อสำรวจประชาชนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคพาร์กินสัน" โดยสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จัดขึ้นเพื่อคัดกรองประชาชนอายุ 40 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ ที่มีความเสี่ยง โดยปี 2563 เริ่มสำรวจและจัดทำฐานข้อมูล ต่อมาปี 2565 ถึงปัจจุบันได้คัดกรองผู้ป่วยและผู้มีความเสี่ยง โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ ในการช่วยวินิจฉัยกลุ่มอาการของโรคได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และเข้าถึงได้ในพื้นที่ต่างจังหวัด เริ่มดำเนินการเป็นแห่งแรกที่จังหวัดนครสวรรค์ ณ โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ (เขาเขียว) ระหว่างวันที่ 15-19 มกราคม 2567 เบื้องต้นมีประชาชนลงทะเบียนเข้าร่วมคัดกรอง กว่า 500 คน และจะใช้จังหวัดนครสวรรค์ เป็นต้นแบบในการดำเนินการ

จากนั้น ทรงพระดำเนินไปยังศูนย์ประชุมมหาวิทยาลัยเจ้าพระยา พระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณชั้น 1 ประกาศเกียรติคุณ และเข็มที่ระลึก แก่ผู้บริจาคโลหิตครบ 36 ครั้ง และ 108 ครั้ง ประจำปี 2561-2565 ของเหล่ากาชาดจังหวัด ภาค 8 ได้แก่ นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก สุโขทัย และอุทัยธานี เพื่อแสดงความขอบคุณ เชิดชูเกียรติผู้มีจิตศรัทธาบริจาคโลหิตด้วยความสมัครใจ ไม่หวังสิ่งตอบแทน เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย และยกย่องหน่วยงานผู้สนับสนุนการบริจาคโลหิตอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้เข้ารับพระราชทาน รวม 994 คน ประกอบด้วย พระสงฆ์รับพระราชทานเข็มที่ระลึกผู้บริจาคโลหิตครบ 36 ครั้ง 19 รูป และ 108 ครั้ง 3 รูป, ผู้บริจาคโลหิต 100 ครั้ง รับพระราชทานเหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1 จำนวน 28 คน, หน่วยงานผู้สนับสนุนการบริจาคโลหิต รับพระราชทานประกาศเกียรติคุณ 30 คน, ผู้บริจาคโลหิต รับพระราชทานเข็มที่ระลึก ผู้บริจาคโลหิตครบ 36 ครั้ง 850 คน และ 108 ครั้ง 64 คน

ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ดำเนินการจัดหาโลหิตบริจาค โดยมีเหล่ากาชาดจังหวัด และโรงพยาบาลสาขาบริการโลหิตทั่วประเทศ ประสานงานสนับสนุนการรับบริจาค แบ่งเป็น 12 ภาค บริการโลหิตแห่งชาติ แต่ละปีสามารถจัดหาโลหิตได้ประมาณร้อยละ 4 โลหิตที่จัดหาได้ในส่วนกลาง ต้องส่งไปช่วยเหลือโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยมีผู้บริจาคโลหิตปีละ 1 ครั้ง ร้อยละ 69, ผู้บริจาคโลหิตปีละ 4 ครั้ง ร้อยละ 4 ในขณะที่ความต้องการโลหิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8-10 หากมีผู้บริจาคโลหิตบริจาคสม่ำเสมอทุก 3 เดือนเพิ่มขึ้น จะทำให้มีโลหิตที่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยตลอดปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง