คนไข้สับสน 30 บาทรักษาทุกที่

View icon 110
วันที่ 9 ม.ค. 2567
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - คนไข้และญาติ ส่วนหนึ่งยังสับสนกับการใช้บริการรักษาพยาบาล 30 บาท รักษาทุกที่ นำร่องแล้วใน 4 จังหวัด ขณะที่ สปสช.จะประเมินผลการนำร่อง 30 บาทรักษาทุกที่ ตั้งแต่สัปดาห์แรก และติดตามแก้ไขปัญหา

เปิดบริการวันแรกโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ในจังหวัดเพชรบุรี อาทิ ที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้า โรงพยาบาลได้จัดเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำตามขั้นตอนที่ประชาชนจะต้องนำบัตรประชาชนมาเสียบเป็นการแสดงตัว หรือยืนยันตัวตน ก่อนใช้สิทธิรักษาพยาบาล จุดนี้ก็จะมีประชาชนมาต่อคิวกันแน่น

นราธิวาส อีก 1 จังหวัดนำร่อง ทีมข่าวลงพื้นที่ไปโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อำเภอเมืองนราธิวาส และพบว่า ส่วนใหญ่คนไข้ยังไม่เข้าใจขั้นตอนการใช้บริการระบบ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว

ทีมข่าวได้รวบรวมและสะท้อนปัญหาความสับสนของคนไข้และญาติในภาพรวมของโครงการนี้ กรณีมีใบนัดแพทย์แล้วต้องดาวน์โหลดแอปหมอพร้อม เพื่อจองคิวก่อน ยุ่งยากกว่าเดิมที่ยื่นใบนัด แล้วก็รอเข้าคิวตรวจตามนัด ส่วนเรื่องใบส่งตัวไปรักษาพยาบาล ที่เคยต้องไปคลินิก หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ก่อนจะไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่ อย่างนี้ถ้าเจ็บป่วยยังไม่ต้องไปคัดกรองอาการที่คลินิกหรือสถานีอนามัยก่อน หรือพุ่งตรงไปที่โรงพยาบาลได้เลย แล้วถ้าไปโรงพยาบาลเอกชน ที่ไม่ใช่โรงพยาบาลประจำ จะได้รับการรักษาหรือไม่ หรือต้องโทรเช็คก่อนเข้าว่า โรงพยาบาลไหน เข้าร่วมโครงการหรือไม่

เรื่องนี้ สปสช.ชี้แจงว่าการเปิดใช้ 30 บาท รักษาทุกที่ จะทำให้ประชาชนใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี แพร่ และนราธิวาส ได้รับบริการและไปตรวจรักษาสะดวกมากขึ้น เชื่อมโยงข้อมูล กันทั้งคลินิก ร้านขายยา บริการกายภาพบำบัด นวดแผนไทย และแล็บใกล้บ้าน เชื่อมต่อข้อมูลกับโรงพยาบาล ทั้งของรัฐ รวมไปถึงโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ข้ามเขต ข้ามจังหวัดกันได้ ในจังหวัดที่นำร่องด้วยกัน

ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ระบุว่า เจ็บป่วยเล็กน้อย คนไข้สามารถนำบัตรประชาชนไป ขอรับยาได้ ที่ร้านขายยา หรือตรวจกับคลินิกใกล้บ้านได้เลยไม่ต้องไปแออัด ลดการรอคอยเวลาไปรักษาที่โรงพยาบาลประจำ

ประเด็นสำคัญ การเชื่อมข้อมูลด้วยการใช้บัตรประชาชน ใบเดียวรักษาทุกที่ทำให้ คนไข้ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว เช่น จากคลินิก หรือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล ไปยังโรงพยาบาลประจำอำเภอ หรือ โรงพยาบาลประจำจังหวัด

สำหรับการประเมินผล 30 บาทรักษาทุกที่ ใน 4 จังหวัดนำร่อง จะติดตามตั้งแต่ในสัปดาห์แรก เพื่อให้ทราบถึงปัญหาเพื่อการแก้ไข พร้อมเดินหน้าโครงการฯ ในเฟสที่ 2 อีก 8 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี พังงา หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครราชสีมา และ สระแก้ว ในเดือนมีนาคมนี้