นายทุนบุกรุกป่าแก่งกระจาน ปลูกสวนทุเรียน-ใช้สารเคมียาฆ่าแมลง

View icon 755
วันที่ 8 ม.ค. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
จนท.อุทยานฯ เอาผิดนายทุนบุกรุกป่า หัวหมอใช้ช่อง ม.64 ลักลอบปลูกทุเรียนเพิ่ม แถมนำสารเคมียาฆ่าแมลงมาใช้ในพื้นที่ มีรายงานปลาตายเกลื่อน เจอข้อหาอ่วม  

แก่งกระจาน วันนี้(8 ม.ค.2567) นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยถึงการนำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบแปลงที่ดินผ่อนผันให้ทำกิน แต่กลับนำสารเคมีเข้ามาใช้ในพื้นที่ และยังพบการตัดไม้ทำลายป่า พิกัด 47 P 550710 E 1430102 N (WGS 84) ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บริเวณพื้นที่บ้านโป่งแดง หมู่ 3 ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา

จากการตรวจสอบพื้นที่พบมีลักษณะบุกรุกแผ้วถางป่าใหม่ หลังปี พ.ศ. 2563 มีการ ตัด โค่น เผา ปลูกพืชผลอาสิน ทุเรียน, มะละกอ และกระท่อมจำนวน 1 แปลง ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีบุกรุกแผ้วถางขยายพื้นที่จากแปลงเดิมของนายอภิรักษ์ ชาวอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี จากฐานข้อมูลอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นายอภิรักษ์ฯ แจ้งการครอบครองตามมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เนื้อที่รวม 30 - 0 - 59 ไร่ และแจ้งการสำรวจการครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พุทธศักราช 2562  มีเนื้อที่ 32 - 0 - 64 ไร่ แต่เมื่อคณะพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบจากภาพถ่ายดาวเทียมตามชั้นปีต่าง ๆ กลับพบความผิดปกติเกิดขึ้น

1. พื้นที่ดังกล่าวได้ถูกบุกรุกแผ้วถางพื้นที่เพิ่มเติมจากที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่  ตามมติคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2541  และแจ้งการสำรวจการครอบครองที่ดินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พุทธศักราช 2562 เนื้อที่โดยประมาณ  32 - 0 - 64 ไร่
​2. พื้นที่ดังกล่าวมิได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง จากการตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียม ปี พ.ศ.2545 พบว่าพื้นที่ดังกล่าวได้มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่บางส่วน แต่ขาดการใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ต่อมาภาพถ่ายดาวเทียม ปี พ.ศ. 2557 กลับไม่พบร่องรอยการใช้ประโยชน์ในพื้นที่แต่อย่างใด จนถึงปี พ.ศ. 2563 จึงได้มีร่องรอยการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเปิดพื้นที่ปลูกเป็นสวนทุเรียน
​3. พื้นที่แปลงตรวจยึดดังกล่าว ตรวจพบการพ่นยาฆ่าหญ้าทั้งแปลง อันเป็นสารเคมีอันตรายที่ห้ามนำเข้าในเขตอุทยานแห่งชาติ คณะเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจยึดอุปกรณ์การพ่นยาเคมี ประกอบด้วย ถังผสมยา เครื่องฉีดยา สายยาง ถังพ่นยาแบบสะพายหลัง ถังบรรจุยาฆ่าหญ้าใช้ที่ใช้แล้ว เป็นของกลางในการกระทำผิดรายละเอียดปรากฏตามรายการของกลาง/อุปกรณ์การกระทำความผิดแนบท้ายบันทึกนี้

แก่งกระจาน

ขณะเดียวกันสามารถตรวจยึดของกลาง/อุปกรณ์การกระทำความผิดประกอบด้วย
​1. เครื่องปั๊ม ติดตั้งเครื่องพ่นยา ขนาด 40CC จำนวน 1 เครื่อง
​2. ถังสีฟ้า ขนาด 200 ลิตร 4 ถัง
​3. สารกัดจัดวัชพืชกลูโฟซิเนต-แอมโมเนียม ขนาด 4 ลิตร 1 ขวด
​4. สารกำจัดแมลง ขนาด 1000 มล. 1 ขวด
5. สารเพิ่มประสิทธิภาพสารเคมี ขนาด 100 มล. 2 ขวด
6. สารเสริมฤทธิ์สารกำจัดวัชพืช ขนาด 100 มล.​ 4 ขวด
7. สารกำจัดแมลง ขนาด 1000 มล. 1 ขวด
8. สารกำจัดแมลง ขนาด 1000 มล.​ 2 ขวด
9. สารป้องกันปลวก ขนาด 1000 มล. 1 ขวด
10. สารกำจัดแมลง โพรฟีโนฟอส 50 ขนาด 1000 มล. 1 ขวด
11. สารกำจัดไรศัตรูพืช ขนาด 500 มล. 1 ขวด
12. สารกำจัดแมลง ขนาด 1000 มล. 1 ขวด
13. สารกำจัดแมลง ขนาด 500 กรัม 1 กล่อง
14. สมุดจดบันทึก 1 เล่ม
15. สารกำจัดวัชพืชกลูโฟซิเนต-แอมโมเนีย 1 แกลลอน
16. สายยาง  ขนาด 3 หุล ยาว 93.5  เมตร 1เส้น
17. สายยาง  ขนาด 3 หุล ยาว 91.5 เมตร 1 เส้น
18. เครื่องปั๊ม
19. แนวท่อยาว 41 เมตร จำนวน 11 แถว
20. แนวท่อ (แถว 1 - 17 ) ยาว 100 เมตร จำนวน 17 แถว
21. สปริงเกอร์ จำนวน 480 ตัว

แก่งกระจาน

นายมงคล กล่าวกับทีมข่าว Ch7HD News ว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2541 ที่อนุญาตใช้เป็นพื้นที่ทำกิน ประกอบกับ พ.ร.บ.อุทยานฯ ฉบับใหม่ มาตรา 64 ที่อนุญาตให้ใช้เป็นพื้นที่ทำกินได้สำหรับราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ แต่จากการบินสำรวจมาก่อนหน้านี้ กลับพบการตัดไม้ในพื้นที่ เจ้าหน้าที่จึงตรวจยึดต้นไม้ดังกล่าว และยังพบอีกว่ามีการขยายขอบเขตแปลงออกมา พร้อมกับใช้สารเคมีอันตราย โดยพบรายงานว่ามีปลาตายในแหล่งน้ำจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบการทำสวนทุเรียน มีต้นทุเรียนประมาณ 250 ต้น เมื่อตรวจสอบภาพถ่ายดาวเทียม พบว่าแปลงทุเรียนเกิดขึ้นปี พ.ศ.2563 ทั้งที่ต้องเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2557

ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้และสัตว์ป่า ซึ่งเป็นผลกระทบทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่า จึงดำเนินคดีนายอภิรักษ์ ในความผิดต่าง ๆ ดังนี้
พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฯ
มาตรา 19 (1) ประกอบมาตรา 41 ฐาน ยึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิม
มาตรา 19 (2) ประกอบมาตรา 42 ฐาน เก็บหา นำออกไป กระทำด้วยประการใดๆ ให้เป็นอันตราย หรือให้ซึ่งไม้ ดิน หิน กรวด ทราย แร่ ปิโตเลียม หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่น หรือกระทำการอื่นใด อันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มาตรา 19 (6) ประกอบมาตรา 44 ฐาน เข้าไปดำเนินกิจการใดๆเพื่อหาผลประโยชน์ ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา 20 บุคคลซึ่งเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้สั่งให้ปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดและระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติว่าด้วยระเบียบการเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ พุทธศักราช 2563 ข้อ 6 บุคคลซึ่งเข้าไปในอุทยานแห่งชาติต้องไม่กระทำการ นำสารเคมี วัตถุ หรือสิ่งอื่นใด ที่เป็นอันตรายต่อพืช สัตว์ หรือส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา 40 ผู้ใดกระทำการหรืองดเว้นกระทำการไม่ว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานแห่งชาติ วนอุทยานสวนพฤกษศาสตร์ หรือสวนรุกขชาติ ผู้นั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่รัฐตามมูลค่าทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลาย สูญหาย หรือเสียหายนั้น

พระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ฐาน
มาตรา 54 และมาตรา 72 ตรี ก่นสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่า หรือเข้ายึดถือครอบครองป่า เพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
มาตรา 55 ผู้ใดครอบครองป่าที่ถูกแผ้วถาง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นเป็น ผู้แผ้วถางป่านั้น

พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507, พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ฐาน
มาตรา 14 ประกอบมาตรา 31 ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ หรืออาศัยอยู่ในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาต

โดยเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้จัดทำบันทึกตรวจยึดและจะเข้าพบพนักงานสอบสวน สภ.แก่งกระจาน เพื่อดำเนินคดีต่อไป

แก่งกระจาน