อย่าลืม! ช้อปดีมีคืน ใช้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2566

View icon 208
วันที่ 4 ม.ค. 2567
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
ถึงเวลาคนไทยที่มีรายได้ต้อง ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  ปีนี้เงื่อนไขการลดหย่อนภาษีไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่อย่าลืม ยื่นใบกำกับภาษี ชอปดีมีคืน ลดหย่อนได้ 4 หมื่นบาท

วันนี้ (4 ม.ค.67)  ต้นปีที่ไร หน้าที่ของคนไทยทุกคนที่มีเงินได้เกิน 120,000 บาทต่อปี ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกคน  ส่วนจะเสียภาษีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการคำนวณ เงินได้สุทธิ ที่คิดจากการนำเงินได้ทั้งปี มาหักค่าใช้จ่าย และหักลดหย่อนภาษีที่มีทั้งหมด โดยเงินได้ทั่วไป (เงินเดือน โบนัส หรือค่าจ้าง) สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

หากรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท ก็จะได้รับการยกเว้นภาษี แต่ถ้าเกินกว่านั้น ก็จะเสียภาษีในอัตราเริ่มต้น 5% และจะสูงขึ้นตามอัตราภาษีแบบขั้นบันได แต่รายการลดหย่อนภาษีจะช่วยทำให้รายได้สุทธิให้ลดลง จึงเสียภาษีน้อยกว่าคนที่ไม่มีรายการลดหย่อนภาษีเลย

เตรียมตัวให้ดีก่อนยื่นแบบแสดงรายได้การเสียภาษี
เราต้องเตรียมตัวให้ดีให้ดีให้รอบคอบอย่าให้ตกหล่น  และห้ามลืม! ปีนี้มีชอปดีมีคืน นำเอกสารใบกำกับภาษี ทั้งที่เป็นกระดาษ และหักภาษีได้ 4 หมื่นบาท!!  เป็นมาตรการลดหย่อนของรัฐ ให้ผู้ที่ซื้อสินค้า บริการไว้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 15 ก.พ.2566 สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท โดย 30,000 บาทแรก ต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ทั้งแบบกระดาษ และแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร ส่วนอีก 10,000 บาทที่เหลือ ต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ เฉพาะแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น

รายการลดหย่อนภาษีอื่น ๆ ยังแบ่งเป็นหมวดหมู่รายการเหมือนเดิม  มาทบทวนกันว่ารายการไหนได้ลดหย่อนเท่าไหร่บ้าง

เริ่มที่ รายการลดหย่อนภาษีพื้นฐาน
1.ลดหย่อนภาษีส่วนตัว 60,000 บาท
2. ลดหย่อนภาษีคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องและคู่สมรสไม่มีงานทำ ลดได้ 60,000 บาท
3. ลดหย่อนภาษีบุตรอายุไม่เกิน 20 ปี หรือ 25 ปีที่เรียนอยู่ 30,000 บาท ลูกคนที่ 2 ขึ้นไปที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 ลดหย่อนได้เพิ่มเป็นคนละ 60,000 บาท
4. ลดหย่อนภาษีบิดามารดา ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ลดได้คนละ 30,000 บาท  ห้ามใช้สิทธิ์ซ้ำระหว่างพี่น้อง
5. ลดหย่อนภาษีให้ผู้ดูแลคนพิการที่มีชื่อตามบัตรคนพิการ 60,000 บาท/คน
6. ค่าฝากครรภ์และทำคลอด ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท

ลดหย่อนภาษีด้วยเบี้ยประกัน
1.เบี้ยประกันชีวิต ประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ต้องคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
2. เบี้ยประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุตัวเอง ไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท
3. เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา รวมกันไม่เกิน 15,000 บาท และนำประกันสุขภาพพ่อแม่ของคู่สมรส ที่ไม่มีรายได้มาลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย
4. เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ไม่เกิน 15% ของรายได้รวมทั้งปี และต้องไม่เกิน 200,000 บาท หรือต้องไม่เกิน 300,000 บาท หากไม่มีการลดหย่อนภาษีด้วยเบี้ยประกันชีวิต และเมื่อรวมกับหมวดการลงทุนเพื่อการเกษียณแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท

ลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน
1. กองทุนประกันสังคม ไม่เกิน 9,000 บาท
2. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้รวมทั้งปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท.
3. กองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ (กบข.)/กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)/กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชนลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้รวมทั้งปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
4. กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้รวมทั้งปี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ
5. กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)ลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ

ลดหย่อนภาษีด้วยเงินบริจาค ยังคงหลักเกณฑ์เดิม ลดได้ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อน ถ้าเป็นเงินบริจาคเพื่อการศึกษา กีฬา พัฒนาสังคม และโรงพยาบาลรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคจริง แต่ไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าลดหย่อน  เงินบริจาคพรรคการเมือง

ลดหย่อนภาษีด้วยมาตรการรัฐ
1. ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยไม่เกิน 100,000 บาท
2. ช้อปดีมีคืน
3. ใครลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม นำเงินลงทุนไปเป็นค่าลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท

เอกสารพร้อมเริ่มยื่นเสียภาษีกันได้เลย ยื่นจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 หากได้เงินภาษีคืนยื่นเร็วก็จะได้เงินคืนเร็วขึ้น แต่ถ้าต้องเสียเพิ่ม อย่ายื่นช้าเกินกำหนด จะถูกค่าปรับเงินเพิ่ม