วันนี้ (3ม.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงการคลังอ่านคำแถลงประกอบงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยมีการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวนไม่เกิน 3,480,000,000,000 บาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยรับงบประมาณ เป็นจำนวน 3,361,638,869,500 บาท เพื่อชดใช้เงินคงคลัง เป็นจำนวน 118,361,130,500 บาท โดยจะมีที่มาจากรายได้ที่คาดว่าจะจัดเก็บได้ 2,787,000 ล้านบาท และ เป็นการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 693,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณเป็นแบบขาดดุล เนื่องจากการปรับลดเป้าหมายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ลงต่อนเองเหลือเพียง 2.5 % ในไตรมาสที่ 3 ของปี พ.ศ. 2566 นั้น แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังสูญเสียความสามารถในการเจริญเติบโต ซึ่งเกิดมาจากปัจจัยทั้งผลกระทบจากพิษเศรษฐกิจช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา การลงทุนของภาคเอกชนที่ลดลง การสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆที่สูงขึ้น และ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ประเมินไว้ว่า เศรษฐกิจในปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.7 - 3.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของภาคการส่งออก การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับอีกหลายปัจจัย ที่สะท้อนว่ารัฐบาลต้องเดินหน้า เพิ่มการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และ พัฒนาประเทศ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้ว่างบประมาณรายจ่ายปีนี้จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้ได้มากขึ้นกว่าร้อยละ 11.9 ทำให้สามารถจัดสรรงบไปลงทุนได้กว่า 717,722.2 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 4.1 และสามารถชดใช้เงินคงคลังและชำระคืนต้นเงินกู้ได้กว่า 118,361.1 ล้านบาทอีกด้วย ซึ่งจะทำเป็นการเตรียมพร้อมทำให้รัฐบาลมีกรอบในการลงทุนในระยะกลางและยาวมากขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 อีกด้วย
และ การบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการดำเนินนโยบายทั้งในระยะสั้นไปจนถึงระยะยาว โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยมีเป้าหมายที่จะบำบัดทุกข์ บำรุงสุข ลงทุนเพื่อสร้างการเจริญเติบโตของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และ เป็นไปตามกฎหมาย
โดยกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยที่สุด คือ กระทรวงพลังงาน 2,834 ล้านบาท ส่วนกระทรวง ที่ได้รับการจัดงบประมาณสูงสุด 5 อันดับแรก มีดังนี้
- กระทรวงมหาดไทย 353,127 ล้านบาท
- กระทรวงศึกษาธิการ 328,384 ล้านบาท
- กระทรวงการคลัง 327,155 ล้านบาท
- กระทรวงกลาโหม 198,320 ล้านบาท
- กระทรวงคมนาคม 183,635 ล้านบาท
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาอ่านคำแถลง 51 หน้า ประมาณ 1.30 ชั่วโมง ด้วยเสียงแหบแห้ง ก่อนพักดื่มกาแฟอเมริกาโน่เป็นระยะ