บทบาทบอร์ดประกันสังคม

View icon 475
วันที่ 25 ธ.ค. 2566
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - ได้มาแล้ว ตัวแทนบอร์ดประกันสังคม ฝั่งนายจ้าง 7 คน และฝั่งลูกจ้าง 7 คน ที่น่าสนใจ คือ 6 คน จากฝั่งลูกจ้างเป็นผู้ชนะจากคณะก้าวหน้า เตรียมเข้ามาดูแลสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน

บทบาทบอร์ดประกันสังคม
มาดูโครงสร้างของคณะกรรมการประกันสังคม หรือ บอร์ดประกันสังคม มี 3 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ, ตัวแทนนายจ้าง และตัวแทนลูกจ้าง (ผู้ประกันตน) คณะกรรมการชุดนี้ จะดำรงตำแหน่ง 2 ปี

โดยมีประธาน คือ ปลัดกระทรวงแรงงาน คือ นายไพโรจน์ โชติกสเถียร ฝ่ายของภาครัฐ มีผู้แทนกระทรวงการคลัง, กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทวงมหาดไทย, กระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนจากสำนักงบประมาณ

ฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้าง ฝ่ายละ 7 คน รวม 14 คน นับคะแนน ได้ผลมาแล้ว รองประธานรับรอง ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกระยะ ส่วนเลขาธิการประกันสังคม เป็นกรรมการ และเลขานุการ

ที่น่าสนใจ คือ การเข้ามาทำหน้าที่ของตัวแทนคณะก้าวหน้า เข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายลูกจ้าง 6 คน เรื่องนี้ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ตัวแทนทั้ง 2 ฝ่าย ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาจากผู้ประกันตน และนายจ้าง ต้องรอการตรวจสอบข้อมูล และเปิดให้ทักท้วง หากไม่มีอะไรผิดพลาด คาดว่า 1 เดือน จะแต่งตั้งคณะทำงานได้อย่างเป็นทางการ

เลขาธิการฯ ประกันสังคม ไม่อยากให้มองเป็นเรื่องการเมือง หรือ จะมีการเมืองฝ่ายใดเข้ามาแทรกแซงการทำงานของบอร์ดประกันสังคมได้ เนื่องจากเป็นการทำงานร่วมกันหลายฝ่าย หากฝ่ายนายจ้าง หรือ ลูกจ้าง มีนโยบายข้อมูลใด ๆ นำเสนอ ก็ต้องนำเข้ามาพิจารณาในที่ประชุม เพื่อช่วยกันพิจารณา ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทีมประกันสังคมก้าวหน้า ตรวจสอบ กองทุนประกันสังคมโปร่งใส 
นางสาวพรรณิการ์ วานิช ทีมประกันสังคมก้าวหน้า เชื่อว่า 2 ปี ในการทำงานไม่สั้นเกินไป จะพยายามนำแนวทางให้ได้เมื่อเข้ามาคือ สร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้อย่างรอบคอบว่าเงินของกองทุนประกันสังคม นำไปบริหาร และไปลงทุนในบริษัทที่ไม่มีความเสี่ยงหรือไม่ หรือ นำไปอุ้มคนบางกลุ่ม ที่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะมีมูลค่าใหญ่สุดกว่า 2.3 ล้านล้านบาท ที่ทำได้ทันที

ส่วนที่ต้องหารือคือการเพิ่มสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างที่ต้องหารือกันในคณะกรรมการ แม้จะได้ถึง 6 คน ในสัดส่วนลูกจ้างจาก 7 คน แต่ยังไม่ได้เป็นเสียงส่วนใหญ่ แต่ยืนยันนายจ้างไม่ได้เสียประโยชน์ รวมถึง บัญชียาในการรักษาพยาบาลที่ต้องให้ใกล้เคียงกับสิทธิประโยชน์ของกลุ่มอื่น ๆ อาทิ บัตรทอง 30 บาท หรือ บัญชียาของราชการ