เด่นข่าวเด็ด 7 เรื่องดัง : สรุปข่าวเหยื่อแก๊งคอลเซนเตอร์ ปี 2566

View icon 131
วันที่ 21 ธ.ค. 2566
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - สรุปข่าวรอบปี วันนี้เป็นเรื่องของ "เหยื่อ" ถ้าพูดถึงเหยื่อ ปีนี้คนไทยตกเป็นเหยื่ออะไรมากที่สุด คงหนีไม่พ้น แก๊งคอลเซนเตอร์ ภัยไซเบอร์ต่าง ๆ ถามว่ามากขนาดไหน ก็มากเกือบ 400,000 คดี ความเสียหายหลายหมื่นล้านบาท ที่สำคัญมีหลายคนที่ตกเป็น "เหยื่อ" ต้องจบชีวิตลง เพราะกลโกงเหล่านี้ ติดตามภาพรวมในปีนี้ และแนวทางแก้ไขในปีหน้า กับคุณปราโมทย์ คำมา

คุณผู้ชมจะเห็นคำว่า "เหยื่อ" ตัวโตใหญ่ ๆ ก็เพราะว่า 1 ปีที่ผ่านมา มีคนไทยตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ภัยไซเบอร์ต่าง ๆ มากถึง 400,000 คน และความสูญเสียของเหยื่อ ไม่ได้หยุดแค่ทรัพย์สินมูลค่าเกือบ 50,000 ล้านบาทเท่านั้น แต่ยังเสียไปถึงชีวิต เหลือไว้เพียงร่องรอยความเสียใจและบาดแผลของคนในครอบครัว

เชื่อว่าคุณผู้ชมคงยังจำได้ถึงโศกนาฏกรรมของครอบครัวหนึ่ง ที่หลงเชื่อว่า จะกู้เงินมาหมุน กลับถูกหลอกล่อด้วยแผนการที่ซับซ้อน จากที่จะได้เงินกู้ กลับเสียเงินหลายแสนบาท หาทางออกไม่ได้ กลับไปเจอทางตัน ผู้เป็นพ่อตัดสินใจจบปัญหา ด้วยการปลิดชีพทุกคนในครอบครัว สังเวยแก๊งคอลเซนเตอร์ไป 3 ศพ

นี่ไม่ใช่รายแรกที่นักเรียนถูกหลอกให้ซื้อไอโฟนทิพย์ หาเงินมาทุกวิถีทาง แม้จะยากลำบาก แต่แก๊งมิจฉาชีพก็ไม่ได้ปราณี เพราะเป้าหมายของพวกเขาคือ ทำให้เหยื่อโอนเงินให้ได้ โดยที่ไม่รับรู้เลยว่า เงินที่ได้ไป ต้องทำให้ครอบครัวหนึ่งต้องสูญเสียลูกอันเป็นที่รักไปตลอดกาล

จดหมายลาตายฉบับนี้ ถูกเขียนโดยคุณยายอายุ 82 ปี ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้มุกเก่าแก่ โอนเงินไปตรวจสอบความบริสุทธิ์หลายครั้ง จนครั้งสุดท้ายเหลือเงินพันกว่าบาท แก๊งมิจฉาชีพก็ไม่เว้น เงินหลายล้านหมดเกลี้ยงบัญชี เป็นที่มาของจดหมายคำสั่งสุดท้ายของแม่ แต่ก็โชคดีที่คนในครอบครัวช่วยดูแลได้ทัน

จาก 3 เหตุการณ์ที่เล่าให้ฟัง จะเห็นว่า เหยื่อของแก๊งคอลเซนเตอร์ มีทุกเพศ ทุกวัย จากการรวบรวมการแจ้งความของตำรวจกองบังคับการตำรวจสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พบว่า กลุ่มผู้เสียหายที่เป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ไม่ใช่กลุ่มผู้สูงอายุ ไม่ใช่กลุ่มเด็กวัยรุ่น แต่เป็นกลุ่มของวัยทำงาน ที่กำลังมีความรู้ความสามารถ

พามาดูจำนวนคดีออนไลน์ที่เกิดขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 จนล่าสุด 31 ตุลาคม 2566 มีคดีออนไลน์ทั้งหมด 354,635 คดี แยกออกเป็น 14 ประเภท เรายกตัวอย่างให้ดู 5 อันดับแรก จะเห็นว่าอันดับที่ 1 คือ การหลอกลวงซื้อขายสินค้าและบริการ 2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน 3.หลอกให้กู้เงิน 4.หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และ 5.ข่มขู่ทางโทรศัพท์

ช่วงที่พีกที่สุด คือ ช่วงเดือนธันวาคม ปี 65 ก่อนจะค่อย ๆ ลดลง จนมาดีดขึ้นอีกทีช่วงกลางปีนี้ จากนั้นค่อย ๆ ลดลงอีกครั้งในช่วงปลายปี แต่แม้ว่าจำนวนคดีจะลดลง ความเสียหายกลับเพิ่มขึ้น

ปีหน้าสิ่งน่ากลัวกว่าการโทรมาหลอก จึงกลายเป็นการที่มิจฉาชีพจะเจาะระบบเข้ามาในโทรศัพท์ของเรา และควบคุมทุกอย่าง แทนการสร้างสตอรีหลอกลวงไปเรื่อย

ตำรวจไซเบอ ร์มีคำแนะนำง่าย ๆ ที่ประชาชนจะทำได้ คือ "4 ไม่ 1 ทำ" ไม่ที่ 1 คือ ไม่กดลิงก์ ไม่แอดไลน์ ไม่ติดตั้งแอปพลิเคชัน ไม่สแกนใบหน้า ส่วน 1 ทำ คือ เมื่อจะติดตั้งแอปฯ ต้องติดตั้งผ่านระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์ตัวเองเท่านั้น ประชาชนทำได้เท่านี้ เพื่อป้องกันภัยในเบื้องต้น แล้วรัฐฯ ทำอะไรบ้าง

ต้องบอกว่าปีที่ผ่านมา รัฐทำไปหลายอย่าง เช่น โครงการ AOC 1441 ซึ่งเป็นศูนย์ One Stop Service ที่ตั้งมาเพื่อคลี่คลายปัญหานี้โดยเฉพาะ มีหน้าที่ในการระงับอายัดบัญชีของคนร้ายทุกทอดทันที เมื่อไรที่เราถูกหลอก ให้โทรไปที่สายด่วน 1441 จะมีเจ้าหน้าที่คอยรับเรื่อง ตลอด 24 ชั่วโมง

คุณผู้ชมอาจจะคิดไม่ถึงว่า การตกเป็น "เหยื่อ" ของคนไทย เมื่อเทียบกับประเทศในแถบเอเชียแล้ว เราติดท็อปไฟว์ ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดี แต่เป็นสิ่งสะท้อนว่า เราต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนไทย ผมก็มีโอกาสได้ไปร่วมการประชุมต่อต้านอาญากรรมไซเบอร์ระดับเอเชียครั้งแรก ที่ไต้หวัน ซึ่งตัวแทนของไทยได้แลกเปลี่ยนประเด็นการจัดการบัญชีม้า แชร์ปัญหา และนำองค์ความรู้ต่าง ๆ กับมาใช้ที่บ้านเรา

เชื่อว่าไม่มีใครอยากตกเป็น "เหยื่อ" ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งเรื่องนี้มีการพยายามผลักดันให้แก้ไขเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่จนถึงปีนี้การแก้ปัญหายังไม่เห็นผล ได้แต่หวังว่าปีหน้าจะสามารถลดจำนวน "เหยื่อ" ลงได้ ที่สำคัญคนไทยต้องเท่าทัน เพื่อไม่ให้ตกเป็น "เหยื่อ"