เด่นข่าวเด็ด 7 เรื่องดัง : ช็อก

View icon 135
วันที่ 19 ธ.ค. 2566
ห้องข่าวภาคเที่ยง
แชร์
ห้องข่าวภาคเที่ยง - ไม่กี่วันที่ผ่านมา เราก็เพิ่งได้ยินข่าว "หมอทหารคลั่ง" ไปหมาด ๆ ทำให้นึกย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี มีหลาย ๆ เหตุการณ์ชวนช็อกคนในสังคม จนเราต้องมาตั้งคำถามตัวใหญ่ ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วปีหน้ายังจะมีเหตุการณ์แบบนี้อีกไหม เราจะไปดูข่าวชวน "ช็อก" ที่เกิดขึ้นในรอบปีนี้กับคุณดารินทิพย์ วิมลพัฒน์

หากเราค้นหาคำว่า "ปืนเถื่อน" ในแอปพลิเคชันบางแพลตฟอร์ม คุณผู้ชมเชื่อหรือไม่ จะเจอกับคนประกาศขายอาวุธปืนมากมาย หรือสิ่งนี้ กำลังชี้ให้เห็นปัญหาใต้พรม ว่าทำไมเหตุความรุนแรงหลาย ๆ คดีในบ้านเรายังไม่หมดไป

ย้อนดูเหตุการณ์ใหญ่ ๆ ที่ชวนช็อกตลอดทั้งปีนี้ เริ่มต้น วันที่ 10 กุมภาพันธ์ อดีตทหารเกณฑ์คลั่ง กราดยิงผู้โดยสารบนรถบัส สายภูเก็ต-พัทลุง มีผู้บาดเจ็บ 2 คน ก่อนที่ผู้ก่อเหตุจะปลิดชีวิตตัวเองหนีความผิด พอตรวจสอบก็พบมีอาการป่วยทางจิตเวช ขาดการรักษาจนเกิดอาการหลอน

14 มีนาคม ช็อกสังคมอีกครั้ง เมื่อ พันตำรวจโท มีอาการป่วยทางจิตเวช เกิดคลุ้มคลั่ง ยิงปืนในบ้านพัก เขตสายไหม ตำรวจใช้เวลาเกิน 24 ชั่วโมง เอาไม่อยู่ จึงตัดสินใจบุกจับ จนพันตำรวจโท ถูกยิงและตกลงมาจากหน้าต่างชั้น 2 ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา

8 วันต่อมา ชายอายุ 29 ปี อดีตเคยฝึกเป็นทหารพราน คาดเครียดต้องไปขึ้นศาล สั่งซื้ออาวุธและกระสุนทางออนไลน์ กระหน่ำยิงจากบ้านพักในจังหวัดเพชรบุรี สังหารชีวิตคนบริสุทธิ์ ไป 3 ศพ บาดเจ็บอีก 3 ก่อนถูกตำรวจวิสามัญฯ

12 พฤษภาคม วุ่นวายอีกรอบ เมื่ออดีตครูสอนฝึกยิงปืน เกิดคลุ้มคลั่งยิงปืนในบ้าน ในจังหวัดระยอง แถมยังขู่จุดไฟเผา เจ้าหน้าที่ใช้เวลากดดันนานกว่า 10 ชั่วโมง ก่อนพ่อ-แม่ เข้าเกลี้ยกล่อม จบลงโดยไม่สูญเสีย

6 กันยายน งานเลี้ยงวันเกิด "กำนันนก" จังหวัดนครปฐม กลายเป็นปฐมบทการสางปมทุจริตครั้งใหญ่ เมื่อ "สารวัตร" หนุ่มอนาคตไกล ต้องจบชีวิตเพราะไม่ยอมช่วยวิ่งเต้นตำแหน่งหน้าที่ ถูกยิงเสียชีวิต แถมตำรวจที่ควรช่วยเหลือกลับเผ่นหนี บางส่วนยังพา "กำนันนก" หลบหนีอย่างหน้าละอาย

3 ตุลาคม เหตุกราดยิงในห้างฯ เทอมินอล 21 ยังทิ้งบาดแผลในใจไม่หาย คราวนี้เกิดในห้างฯ สยามพารากอน ใจกลางกรุงเทพฯ คนก่อเหตุเป็นเด็กชายอายุ 14 ปี มีผู้จบชีวิตถึง 2 คน บาดเจ็บอีก 5 ตอนถูกจับ เจ้าตัวแสดงอาการหลอน หวาดกลัว จนถูกตั้งคำถาม หรือจะป่วยจิตเวช แต่สุดท้ายแพทย์ลงความเห็นไม่พบอาการป่วย

11 พฤศจิกายน เปิดเทอมใหญ่ จุดชนวนวัยรุ่นเดือด นักเรียน นักศึกษา ก่อเหตุดักยิง ยกพวกทะเลาะวิวาท วันเว้นวัน คมกระสุนพลาดถูกผู้บริสุทธิ์ พรากชีวิต "ครูเจี๊ยบ" ไปอย่างสุดสลด ตำรวจกุมขมับ คนก่อเหตุวางแผนอย่างดี ไม่ต่างจากมือปืนรับจ้าง

เหตุการณ์ทั้งหมดที่ว่ามา พัวพันกับปัญหา "ปืนเถื่อน" สอดคล้องกับ ข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างประเทศ ชี้ว่า คนไทยกว่า 66 ล้านคน 15.41% มีอาวุธปืนในครอบครอง แบ่งเป็นปืนมีทะเบียน 6.2 ล้านกระบอก และปืนไม่มีทะเบียน 4.1 ล้านกระบอก สูงเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และอันดับ 13 ของโลกขณะที่บางเว็บไซต์ ใช้คำว่า "ไทยเป็นตลาดมืดค้าปืนหลักของอาเซียน"

แม้แต่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ยอมรับ ปัญหาอาวุธปืนเถื่อน แพร่ระบาดต่อเนื่อง จับเท่าไหร่ก็ไม่หมด สาเหตุเพราะความต้องการนำไปใช้สร้างปัญหาอาชญากรรม โดยเฉพาะ ปืนไม่มีทะเบียน เพื่อให้ยากต่อการตรวจสอบ

ผลการปราบปรามอาวุธปืนเถื่อน พอนำข้อมูลปี 2565 กับ ปี 2566 มาเทียบให้ดู จะเห็นชัดเจนว่า ปี 2565 มีการจับกุมผู้ต้องหาได้กว่า 800 คน ยึดปืนประเภทต่าง ๆ ทั้งถูกกฎหมายแต่ผิดมือ และปืนผิดกฎหมายได้กว่า 1,300 กระบอก แต่ข้ามมาปีนี้ 2566 กลับมีการจับกุมผู้ต้องหาไปแล้วกว่า 1,600 คน ยึดปืนได้กว่า 2,000 กระบอก สูงกว่าปีที่แล้วเกือบเท่าตัว ทางแก้ปัญหานี้ นอกจากการปราบปรามอย่างจริงจัง รัฐควรแก้ไขกฎหมาย ให้คนไม่กล้าทำผิด

แนวคิดที่ถูกเสนอให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย กลายเป็นมาตรการสั้น ๆ 8 ข้อ แบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต ทั้งการห้ามนำเข้าสิ่งเทียมอาวุธปืน ให้นำส่งเทียมอาวุธปืนไปขึ้นทะเบียน เพิ่มความเข้มตรวจสอบการนำเข้า กำกับดูแลสนามฝึกซ้อม งดออกใบอนุญาตพกปืนติดตัว เจ้าหน้าที่รัฐมีปืนได้คนละ 1 กระบอก งดการออกใบอนุญาตสั่งนำเข้าปืนของร้านค้า

ระหว่างรอแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้มงวดกวดขันปิดเว็บไซต์ เพจออนไลน์ซื้อขายอาวุธปืนเถื่อน และสิ่งเทียมอาวุธปืนดัดแปลง รายงานผลให้กระทรวงมหาดไทยทุก 15 วัน

การเพิ่มโทษให้สูงขึ้น และการจำกัดการครอบครองปืน จะช่วยลดเหตุความรุนแรงได้จริงหรือไม่ เป็นคำถามตัวใหญ่ ๆ ที่เราต้องจับตาดูกันต่อไปในปี 2567 เพราะไม่มีใครอยากเห็นเรื่อง "ช็อก" เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกปี