เศรษฐา ย้ำเป้าหมาย ผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

View icon 53
วันที่ 11 ธ.ค. 2566
เช้านี้ที่หมอชิต
แชร์
เช้านี้ที่หมอชิต - เมื่อวานนี้ 10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญ ไปอัพเดตความคืบหน้าถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันหน่อย

เศรษฐา ย้ำเป้าหมาย ผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก และ X เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ ว่า 10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญของประเทศไทย รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดิน ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐบาลจึงมีหน้าที่ทำให้รัฐธรรมนูญมาจากประชาชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นภารกิจใหญ่ จะอาศัยเพียงพลังของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ แต่ทุก ๆ ภาคส่วนในสังคมจะต้องช่วยกันผลักดันเพื่อให้เราไปถึงเป้าหมาย นั่นคือ การมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

รองโฆษกรัฐบาล เผย รับฟังความเห็นประชาชนครบ 4 ภาคแล้ว
ด้าน นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นประชาชนครบทั้ง 4 ภาคของไทยแล้ว

โดยมีแนวคำถามในการรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้น ดังนี้ เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้มีการจัดทำรัฐธรมนูญฉบับใหม่ เห็นด้วย 194 คน ไม่เห็นด้วย 46 คน เห็นด้วยหรือไม่ที่จะคงเนื้อหาในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ เห็นด้วย 167 คน ไม่เห็นด้วย 70 คน หากมีการจัดทำประชามติเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะไปใช้สิทธิออกเสียงหรือไม่ ไป 230 คน ไม่ไป 5 คน เป็นต้น

นิกร กางไทม์ไลน์ทำประชามติ
นายนิกร จำนง ในฐานะประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กล่าวว่า ขณะนี้การรับฟังความเห็นยังเหลือเพียงสมาชิกรัฐสภา ซึ่งในวันที่ 13 ธันวาคมนี้ สมาชิกรัฐสภาจะทำแบบสอบถามความเห็นต่อประชามติ

และในวันที่ 18-20 ธันวาคมนี้ จะรับฟังคำตอบ เพื่อสรุปความเห็นในวันที่ 22 ธันวาคม จากนั้นวันที่ 25 ธันวาคม นายภูมิธรรม เวชชชัย คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 จะนัดประชุมคณะกรรมการฯ ชุดใหญ่ เพื่อหาข้อสรุป

โดยในช่วงเดือนเมษายนปีหน้า คาดว่าจะเริ่มทำประชามติครั้งแรกได้ หรือหากมีพรรคการเมืองเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความก่อน และวินิจฉัยว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก็อาจจะเริ่มเร็วกว่านั้น แต่ข้อที่เป็นห่วงคือ ประชาชนจะออกมาใช้สิทธิถึง 26 ล้านคนหรือไม่ และมีผู้เห็นชอบรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 13.5 ล้านคนหรือไม่ ตามระบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น