17 จังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล เตรียมรับมือฝุ่น PM2.5

View icon 65
วันที่ 6 ธ.ค. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
“อนุทิน” สั่งเข้มทุกจังหวัดป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เตรียมแผนเผชิญเหตุ คน เครื่องมือพร้อม ควบคู่ขับเคลื่อนเชิงรุกสร้างความร่วมมือภาคประชาชน

วันนี้ (6 ธ.ค.66) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ได้เน้นย้ำผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาไฟป่า หมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก(PM 2.5)  ในพื้นที่ โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการสนับสนุนการสั่งดำเนินการ ตลอดจนแจ้งเตือนแก่ประชาชนได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

เนื่องจากในช่วงฤดูหนาวจนถึงฤดูแล้งของทุกปี ประเทศไทยจะเกิดสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินเกณฑ์มาตรฐานในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งมีสาเหตุทั้งจากโดยธรรมชาติ สภาพอากาศและภูมิประเทศที่เอื้อต่อการเกิดสถานการณ์และกิจกรรมของมนุษย์ จนเกิดการสะสมของฝุ่นละอองในปริมาณสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชน

พร้อมกำชับหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ให้บังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็นการเผาในที่โล่ง การคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม และการก่อสร้าง ส่วนกรณีการเผาในพื้นที่การเกษตร ปฏิบัติร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งชุดเฝ้าระวังระดับพื้นที่ สนับสนุนการลาดตระเวนเฝ้าระวัง ป้องปรามการลักลอบเผาในเขตพื้นที่ป่า เขตพื้นที่การเกษตร

ทั้งนี้ เมื่อเกิดสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า หมอกควัน หรือระดับปริมาณฝุ่น PM2.5 แนวโน้มสูงเกินค่ามาตรฐาน ให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินท้องถิ่น บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยกระดับการปฏิบัติตามมาตรการ บังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นอย่างเข้มงวด กรณีที่เกิดไฟป่าให้สนธิกำลังเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะชำนาญ ประกอบกำลังเป็นชุดปฏิบัติการพร้อมอุปกรณ์เข้าระงับเหตุการณ์โดยเร็ว

ส่วนการดูแลสุขภาพประชาชนให้หน่วยงานด้านสาธารณสุข ให้ดำเนินการให้ข้อมูลการดูแลสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงไม่ว่าจะเป็นการมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ให้ข้อมูล หรือการให้ความรู้ผ่านช่องต่างๆ  และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดพื้นที่และระบบบริการประชาชนในพื้นที่ปลอดภัย (Safety Zone) หรือห้องปลอดฝุ่น เพื่อดูแลผู้มีปัญหาสุขภาพในกรณีจำเป็นต่อไป