พลายเดือน ลูกช้างป่าพลัดหลง จากไปอย่างสงบแล้ว

View icon 70
วันที่ 6 ธ.ค. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
พลายเดือน จากไปอย่างสงบแล้ว หลังรักษาด้วยการวางยาสลบเข้าเฝือก ขอให้น้องเดือนเดินทางสู่ภพใหม่ และขอส่งกำลังใจให้ทีมสัตวแพทย์ทุกท่าน ส่วนสาเหตุการตายสัตวแพทย์จะได้ชันสูตรต่อไป

วันนี้ (6 ธ.ค.66) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แจ้งข่าวเศร้า "น้องเดือน" ลูกช้างป่าพลัดหลงอุทยานแห่งชาติทับลาน  ได้จากไปอย่างสงบแล้ว โดยทีมสัตวแพทย์จะได้ชันสูตรสาเหตุการตายต่อไป ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณและเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ และทีมแพทย์ทุกท่าน หลังข่าวการจากไปของพลายเดือนเผยแพร่ออกไป ผู้ที่ห่วงใยและติดตามการรักษาของพลายเดือนเข้ามาแสดงความเสียใจผ่านหน้าเพจของกรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นจำนวนมาก โดยขอให้น้องไปเป็นเดือนประดับอยู่บนท้องฟ้า ไม่ต้องเจ็บปวดอีกแล้ว

ทางด้าน กัญจนา ศิลปอาชา ได้แสดงความอาลัยต่อการจากไปของพลายเดือน โดยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว "ขอให้น้องเดือนเดินทางสู่ภพใหม่ที่ดีนะคะลูก ทิ้งร่างชำรุดนี้ไป ป้ารักหนูเสมอ"

พลายเดือน ลูกช้างป่าพลัดหลงจากโขลง เพศผู้ อายุ 1 เดือน พบในท้องที่บ้านตลิ่งชัน ต.จระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 8 พ.ย.66 พลายเดือนบาดเจ็บที่ขา ทีมสัตวแพทย์ได้วางแผนการรักษาด้วยการวางยาสลบเข้าเฝือกขาหลังทั้งสองข้าง โดยทำการรักษาเมื่อวันที่ 17 พ.ย.66 หลังฟื้นจากการวางยาสลบและการเข้าเฝือก พลายเดือนใจสู้สามารถกินนมได้ แต่ยังมีอาการถ่ายเหลว ท้องอืด ทีมสัตวแพทย์ได้ปรับอาหารเฝ้าติดตามดูแลอาการของลูกช้างอย่างต่อเนื่อง

ในแต่ละวันจะพาพลายเดือนเดินเล่นช้าๆ แต่ยังอยู่บนอุปกรณ์ช่วยพยุงอยู่ตลอดเวลาโดยยก 2 ขาหลังที่เข้าเฝือกเหนือพื้นเล็กน้อย และสลับให้เปลพยุงเพื่อลดแผลกดทับบริเวณขาหนีบ รวมทั้งใช้เครื่องปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetotherapy Vet) ระบบดูแลกระดูก ควบคู่กับการรักษาทางยา โดยจะทำการใช้เครื่องปล่อยคลื่นแม่เหล็ก ไฟฟ้า ตามโปรแกรมการรักษา

สำหรับการรักษาพลายเดือน ได้รับความร่วมมือจากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จังหวัดชลบุรี โรงพยาบาลรักษานานาสัตว์ จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา) เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก และศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จังหวัดสุพรรณบุรี สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าบางละมุง จังหวัดชลบุรี และสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน จังหวัดสระแก้ว นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนการปฏิบัติงานพื้นที่ภาคสนามจาก อาสาสมัครช่วยเหลือสัตว์ป่า "กลุ่ม Save ฅน Save ช้าง" อีกด้วย