ห้องข่าวภาคเที่ยง - เรื่องใหญ่ที่แก้ปัญหากันมานาน แต่ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม นั่นก็คือปัญหาหนี้ คราวนี้มาดูสัดส่วนหนี้ ตามตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย ล่าสุด มีแนวโน้มจะพุ่งเกินกว่า 16.5 ล้านล้านบาท โครงสร้างการแก้ปัญหามันซับซ้อน เพราะในจำนวนนี้ ว่ากันว่าเป็นก้อนหนี้นอกระบบกว่า 50,000 ล้านบาท อันนี้เฉพาะที่ตรวจสอบได้ เชื่อว่ายังมีอีกมากที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบการตรวจสอบ นี่แหละมันทำให้ภาพรวมความจนในประเทศไทยไม่หมดไป และวันนี้ดีเดย์ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบทั่วประเทศวันแรก หวังเป็นจุดเริ่มต้น แก้ปมปัญหาใหญ่
วันนี้ทั้งที่ศาลากลางจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรมในอำเภอ หลายพื้นที่ประชาชนมารอคิวลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนทั่วประเทศเป็นวันแรก นอกจากนี้สามารถลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ ด้วยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ThaiD ของกระทรวงมหาดไทย เข้าไปสแกนคิวอาร์โค้ด และทำตามขั้นตอนที่ระบุไว้ หรือ ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์
debt.dopa.go.th ที่เขาเปิดลงทะเบียนหลายช่องทาง เพราะเกรงว่าลูกหนี้อาจจะเกรงกลัวอิทธิพลของเจ้าหนี้นอกระบบ ซึ่งการปล่อยกู้ถือว่าทำผิดกฎหมาย ก็เลยมีหลากหลายช่องทาง เพื่อนำไปสู่การไกล่เกลี่ย และปรับโครงสร้าง ปลายทางคือการปลดหนี้ หลังรัฐบาลประกาศให้ "การแก้ไขหนี้นอกระบบ" เป็นวาระชาติ เรียกได้ว่าประชาชนที่ไม่ถนัดลงทะเบียนออนไลน์หลายพื้นที่ เช่น จังหวัดเลย ต่างก็ทยอยเดินทางไปรอคิวแก้หนี้นอกระบบกับหน่วยงานราชการ ส่วนในกรุงเทพฯ สามารถไปลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขต ทั้ง 50 เขต คราวนี้ไปพูดคุย บางคนบอกดีใจนะที่มีการเปิดลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบ เพราะตัวเองกู้มา 3 เจ้า รวม ๆ 18,000 บาท วัน ๆ ต้องหาเงินจ่ายรายวัน วันละ 1,200 บาท บางพื้นที่ลูกหนี้มาขอลงทะเบียนล่วงหน้าตั้งแต่ 10 วันที่แล้ว และมีอีกหลายคนให้สัมภาษณ์ไปร้องไห้ไป
แนวทางสกัดการก่อหนี้ และการแก้ปัญหาหนี้สินคนไทย ถูกแก้กันมาทุกรัฐบาล เป็นปัญหาใหญ่ที่คาราคาซังมานาน และทำให้คนไทยไม่หายจนเสียที รอดูผลงานของรัฐบาลนี้จะแก้ได้สำเร็จหรือไม่ ซึ่งนอกจากการแก้หนี้นอกระบบ ซึ่งมีผู้ให้นิยามว่า เป็นการค้าทาสยุคใหม่ วันที่ 12 ธันวาคม จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับการแก้หนี้ในระบบด้วย
มาลงรายละเอียดคร่าว ๆ สำหรับการแก้หนี้นอกระบบวันนี้ กรณีเป็นหนี้จากการกู้ยืมเงิน จะมีเจ้าหน้าที่มาเจรจาไกล่เกลี่ย ทั้งเจ้าหนี้ และลูกหนี้ หากเจรจากันได้ ลูกหนี้จะเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ และอยู่ภายใต้เพดานดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปีตามกฎหมาย หรือจากที่เคยเป็นหนี้นอกระบบ ก็จะเข้าสู่ระบบ ตรงนี้ธนาคารออมสิน เตรียมเงินปล่อยกู้ตามมูลค่าหนี้ หรือไม่เกินคนละ 50,000 บาท ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 2 ปี หรือสินเชื่อเพื่ออาชีพอิสระ คนละไม่เกิน 100,000 บาท ระยะเวลาชำระหนี้สูงสุดไม่เกิน 8 ปี คิดดอกเบี้ยตามขีดความสามารถของลูกหนี้ นอกจากนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ยังเตรียมวงเงินได้ว 2.5 ล้านบาทต่อราย สำหรับผู้นำที่ดินทำกินไปจำนองด้วย
คราวนี้พาไปดูตัวเลขที่น่าสนใจ เกี่ยวกับรายงานสถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำไทย ปี 2565 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ ระบุว่า แม้จำนวนคนจนจะลดลงต่อเนื่อง หรือเมื่อปี 2564 มี 4.4 ล้านคน ลดเหลือ 3.8 ล้านคน ซึ่งเมื่อปี 2565 มีโครงการช่วยเหลือประชาชนที่สำคัญ เช่น โครงการเพิ่มกำลังซื้อผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คราวนี้เมื่อลงลึกไปในรายละเอียดยังมีครัวเรือนเกือบจน หรือกลุ่มคนที่เสี่ยงจะเป็นคนจนอีก 4.6 ล้านคน ตรงนี้จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะเมื่อเงินขาดมือ หรือรายได้ลดลง ก็สามารถเปลี่ยนสถานะกลายเป็นคนจนได้ทันที
ขณะที่เส้นความยากจน ในปี 2565 พบว่าปรับตัวดีขึ้นจาก ปี 2564 อยู่ที่ 2,803 บาทต่อคนต่อปี มาอยู่ที่ 2,997 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งแม้ว่าความยากจน จะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังติดอยู่ในกับดักของความยากจน พบว่าจำนวนครัวเรือนที่มีแนวโน้มจะตกอยู่ในความยากจนข้ามรุ่น มีประมาณ 597,428 ครัวเรือน หรือประมาณ 15% ของครัวเรือนที่มีเด็กและเยาวชนเป็นสมาชิก และมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลสืบเนื่องผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาด้วย
หนี้นอกระบบสะท้อนปมปัญหาที่ซับซ้อนทางด้านสังคมคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของภาคครัวเรือน ซึ่งหากสามารถช่วยลูกหนี้ให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้เพิ่มขึ้น ผลได้ที่ชัดเจนที่สุดก็คือภาระดอกเบี้ยที่ลดลงของลูกหนี้ ระยะข้างหน้า คงต้องติดตามการแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ส่วนที่อยู่ในระบบต่อไปนั่นเอง