พีระพันธุ์ ไม่ปลื้ม กกพ. เสนอ 3 แนวทาง-ปรับค่าไฟฟ้าปี 67

View icon 124
วันที่ 22 พ.ย. 2566
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - เรียกว่าต้องตีตกกันก่อนเลย สำหรับสูตรการแก้ปัญหาค่าไฟแพง ของ กกพ. เพราะอาจทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระเพิ่มสูงสุดเกือบ 2 บาทต่อหน่วยเลยทีเดียว

พีระพันธุ์ ไม่ปลื้ม กกพ. เสนอ 3 แนวทาง-ปรับค่าไฟฟ้าปี 67
เป็นกรณีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เคาะ 3 ทางเลือก ปรับขึ้นค่าไฟเฉลี่ยหน่วยละ 4 บาท 68 สตางค์ ถึง 5 บาท 95 สตางค์ ในงวดมกราคม - เมษายน 2567 จากปัจจุบันอยู่ที่หน่วยละ 3 บาท 99 สตางค์ ซึ่งอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ สำนักงาน กกพ. และจะจบในอีกสองวันข้างหน้า คือวันที่ 24 พฤศจิกายนนี้

เรื่องนี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไม่ถูกใจสิ่งนี้ สั่งการให้ทีมงานเข้าไปดูโครงสร้างต้นทุนค่าไฟ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชน โดยจะพยายามทำให้ค่าไฟยังอยู่ที่หน่วยละ 3 บาท 99 สตางค์ เพื่อสานนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนให้มากที่สุด

ย้ำกันอีกทีว่า รัฐมนตรี พีระพันธุ์ ไม่ถูกใจสิ่งนี้ ไม่พอใจกับโครงสร้างค่าไฟปัจจุบัน ที่ กกพ. นำมาใช้ เพราะไม่เป็นธรรมกับประชาชน ดังนั้น ค่าไฟจึงยังไม่สรุป และบทสรุปที่จะได้ อาจไม่ใช่ราคาที่ กกพ. ประกาศออกมาก็เป็นไปได้

ย้อนไทม์ไลน์ รัฐบาลเศรษฐา ลดค่าไฟฟ้าแล้วกี่ครั้ง
ทีนี้มาย้อนดูตั้งแต่ "รัฐบาลเศรษฐา" แถลงนโยบายต่อรัฐสภา การปรับลดค่าไฟ เป็นหนึ่งในนโยบายหลักทำทันที มีการประกาศลดค่าไฟ งวด 3 สำหรับเดือนกันยายน - ธันวาคม ลงถึง 2 ครั้ง

ครั้งแรกลดลงมาเหลือ 4 บาท 10 สตางค์ต่อหน่วย และอีกครั้งเมื่อวันที่ 18 กันยายน ก็ปรับลดอีกเหลือหน่วยละ 3 บาท 99 สตางค์ โดยคนไทยจ่ายสบายกระเป๋ากันขึ้น ในรอบบิลเดือนกันยายนที่ผ่านมา

เรียกว่าจากหน่วยละ 4 บาท 45 สตางค์ เหลือ 3 บาท 99 สตางค์ ลดลงไปหน่วยละ 46 สตางค์รวม ๆ ก็ 4 เดือน แต่ต้นปีหน้าก็อย่างที่เกริ่นไปตอนต้น ขนาดนายพีระพันธุ์ เจ้ากระทรวงพลังงาน ก็ยังไม่ปลื้มกับโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้า

เมื่อลองนำมาเปรียบเทียบราคาใหม่มกราคมปีหน้า ประชาชน ต้องควักเงินค่าไฟเพิ่มจากเดิมอีกหน่วยละ 69 สตางค์

หรือคิดแบบสุดโต่งตัวเลขจะขยับไปอยู่ที่หน่วยละ 5 บาท 95 สตางค์ เท่ากับว่าประชาชนต้องควักเงินจ่ายค่าไฟเพิ่มถึง 1 บาท 96 สตางค์ต่อหน่วยกันเลย

ไม่เพียงท่าทีของ นายพีระพันธุ์ เท่านั้นภาคประชาชน ก็พากันไม่เห็นด้วย 3 แนวทาง เพราะมองว่า แก้ไขไม่ตรงจุด

จากนี้ก็ต้องจับตาผลสรุปแบบสอบถาม และโครงสร้างราคาค่าไฟ ที่ กกพ. จะทำออกมาอย่างไรต่อไป