เสี่ยบิ๊ก ผู้ครอบครองรถบรรทุก เข้าให้ปากคำตำรวจ

View icon 108
วันที่ 11 พ.ย. 2566
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์
แชร์
สนามข่าวเสาร์-อาทิตย์ - "เสี่ยบิ๊ก ดาวเขียว" ผู้ครอบครองรถบรรทุก ที่ประสบอุบัติเหตุตกบ่อพักร้อยสายไฟ บริเวณปากซอยสุขุมวิท 64/1 เข้าให้ปากคำกับตำรวจ สน.พระโขนง เพื่อชี้แจงประเด็นต่าง ๆ ที่ตำรวจมีข้อสงสัย ใช้เวลาตั้งแต่บ่ายจนค่ำ ก่อนออกมาเปิดใจยืนยันว่า สติกเกอร์ที่เห็นไม่ได้เกี่ยวข้องกับส่วย

นายวุฒิภัทร จันทรินทรากร หรือ "เสี่ยบิ๊ก ดาวเขียว" ซึ่งมีชื่อเป็นผู้ครอบครอง หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า เป็นเจ้าของรถบรรทุก พร้อม นายศักดิ์มงคล หรือ "บอย" อายุ 29 ปี คนขับรถบรรทุกคันที่ประสบอุบัติเหตุ และทนายความ ไปเข้าพบพนักงานสอบสวน สน.พระโขนง เพื่อชี้แจงประเด็นต่าง ๆ ที่ตำรวจมีข้อสงสัย ทั้งประเด็นรู้เห็นปล่อยรถบรรทุกน้ำหนักเกิน และสติกเกอร์ที่ติดอยู่หน้ารถ ซึ่งก็เหมือน นายบอย เมื่อวันก่อน ที่พอมาถึงที่โรงพัก เลือกที่จะไม่ให้สัมภาษณ์ หรือตอบคำถามของสื่อมวลชน ก่อนเดินเข้าพบพนักงานสอบสวนไป

ตำรวจสอบปากคำ "เสี่ยบิ๊ก" อยู่นานกว่า 6 ชั่วโมง ก่อนที่เจ้าตัวจะกลับออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชน เพื่อเคลียร์ข้อสงสัยทั้งหมดว่า ก่อนหน้านี้ตนเองเคยติดสติกเกอร์บนหน้ารถบรรทุกใช้คำว่า "เสี่ยอั่งเปา" ซึ่งมาจากชื่อของลูกชายตัวเอง แต่ต่อมาปี 2561 ได้ไปดูดวงแล้วได้รับการชี้แนะให้เปลี่ยนไปใช้ชื่อตัวเอง จะเสริมดวงชะตาหน้าที่การงานได้ดีกว่า จึงเปลี่ยนมาใช้เป็นสติกเกอร์รูปนี้ ซึ่งได้นำภาพถ่ายมาแสดงกับตำรวจแล้ว ส่วนปัญหาเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ยอมรับตรง ๆ ว่า เพราะจุดที่รับดินมาไม่มีที่ชั่งน้ำหนัก และไม่รู้ว่าต้องไปชั่งจากที่ใด จึงทำได้เพียงกะน้ำหนักเอาคร่าว ๆ

เบื้องต้น ตำรวจได้แจ้งข้อหา "ใช้รถบรรทุกน้ำหนักเกิน" 1 ข้อหา กับเสี่ยบิ๊ก ขณะที่ทนายความของ "เสี่ยบิ๊ก" ก็ขอให้ตำรวจตรวจสอบเรื่องสภาพของคานรับน้ำหนักด้วย เพราะทราบว่าที่ผ่านมาเคยมีรถบรรทุกน้ำหนักวิ่งผ่านเส้นทางนี้ได้เป็นปกติ จึงสงสัยว่าสาเหตุของอุบัติเหตุอาจเกี่ยวข้องกับคานรับน้ำหนักด้วย

ถึงแม้ว่า เสี่ยบิ๊ก จะให้คำตอบแบบนี้ แต่เพราะ นายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เคยตั้งข้อสังเกตว่า สติกเกอร์อาจเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่องส่วยด้วย ตำรวจจึงต้องเชิญ นายอภิชาติ มาให้ปากคำ

ซึ่งเจ้าตัวก็ยอมรับว่า ไม่ได้มีพยานหลักฐานอะไรเป็นพิเศษ เพราะ "เสี่ยบิ๊ก" ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหพันธ์ฯ เพียงแต่ที่ผ่านมาเพิ่งมีคดีส่วยสติกเกอร์มาก่อน และคดีนั้นก็มีการใช้สัญลักษณ์แบบนี้ เมื่อมีสื่อมวลชนมาถามก็ได้บอกข้อสังเกตไปตามสภาพที่เห็น และได้ให้ข้อมูลกับจเรตำรวจแห่งชาติไปแล้ว

นายอภิชาติ ยังบอกอีกว่า ช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร มีการก่อสร้างตลอดเวลา จึงมีการขนอิฐ หิน ดิน ทราย มาก่อสร้าง แต่บ่อหิน บ่อทรายหลาย ๆ ที่ไม่มีตาชั่งน้ำหนัก ทำให้เกิดการบรรทุกเกิน ประกอบกับช่วงนี้ที่กรุงเทพมหานคร กำลังนำสายไฟลงใต้ดิน พอมาเจอรถบรรทุกที่ไม่มีการชั่งน้ำหนัก จึงเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ง่าย ที่พอแนะนำได้ ควรกำหนดมาตรการ เช่น ถนนเส้นไหนที่กำลังนำสายไฟลงดิน เช่น ห้ามรถขนาดใหญ่วิ่งผ่านจุดที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพื่อป้องกันไว้ก่อน

ส่วนการประชุมเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง พลตำรวจตรี พัลลภ แอร่มหล้า รักษาราชการแทนรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนยังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐานในทุกประเด็น หากประเด็นใดที่ตำรวจตั้งข้อสงสัยมีน้ำหนักพอเชื่อได้ว่าเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย ก็จะดำเนินคดีในทุกข้อหา

สำหรับแนวทางการสอบสวน ตำรวจกำหนดกรอบไว้ 3 ประเด็นหลัก คือ 1. ตรวจโครงสร้างคานเหล็กจุดเกิดเหตุเทียบเคียงกับจุดอื่น เรื่องนี้ได้ประสานกับ สภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. และส่งตัวอย่างคานเหล็กที่หักไปให้ตรวจสอบแล้ว

ประเด็นที่ 2 จะเป็นการเรียกสอบปากคำพยานบุคคลที่ปรากฏในคลิปการถ่ายเทน้ำมันออกจากรถ คนที่ต้องสอบสวนมีทั้งคนที่ถ่ายเทน้ำมัน, ตำรวจจราจรที่อยู่ในที่เกิดเหตุ เพื่อนำคำให้การมาพิจารณาร่วมกับผลการตรวจถังแกลลอนบรรจุน้ำมัน ว่ามีเจตนากระทำผิด ต้องการทำลายพยานหลักฐานหรือไม่

และประเด็นที่ 3 จะเป็นการเรียกสอบผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างคอนโดมิเนียม ที่เรียกใช้บริการรถขนดินคันดังกล่าว ไล่ไปตั้งแต่ผู้ควบคุมงาน, นายหน้า, ผู้รับเหมา, ผู้ควบคุมบ่อพักร้อยสายไฟ, ผู้ดูแลจุดเทดิน, พนักงานขับรถตักดิน, คนที่นำดินออกจากจุดเกิดเหตุไปพักไว้ที่ไซต์งานก่อสร้าง เพื่อนำข้อเท็จจริงมาพิสูจน์ข้อสงสัยที่ตำรวจตั้งไว้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง