เตรียมเฮ ปฏิรูปเครดิตบูโร ไม่ต้องติดแบล็กลิสต์ 3 ปี

View icon 51.6K
วันที่ 7 พ.ย. 2566
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - ส่วนเรื่องหนี้สิน เป็นข่าวดีของลูกหนี้ที่ติดแบล็กลิสต์ แล้วไม่สามารถทำธุรกรรมใด ๆ ได้ ที่แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะชำระหนี้ครบก็ตาม ล่าสุดเตรียมเฮ เพราะจะมีการปฏิรูปเครดิตบูโร ยุติการแช่แข็งลูกหนี้ เตรียมเสนอรายชื่อเข้าสภาฯ ในสัปดาห์นี้

นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต สส.กทม. หลังจากที่ลงมาลุยทำงานกับภาคประชาชนเต็มตัว ก็เดินหน้าลุยปฏิรูปเครดิตบูโร แม้ว่าจะลาออกจากการเป็นหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ที่เคยชูปัญหานี้เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงมาแล้ว

เมื่อวานนี้มีการหารือ การร่างกฎหมายปฏิรูปเครดิตบูโร ร่วมกับ คุณกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, คุณอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการองค์กรของผู้บริโภค, คุณนิวัฒน์ กาญจนภูมินทร์ อดีตผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ 

ว่า การร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการ "ยุติการแช่แข็งลูกหนี้" ลดความเดือดร้อนประชาชน ไม่ต้องติดในระบบแบล็กลิสต์กว่า 3 ปี สร้างกติกาใหม่ในการแจ้งข้อมูลเครดิต และทำลายข้อมูลเก่าที่เกินความจำเป็น ให้เป็นธรรมกับประชาชน ได้มีโอกาสฟื้นตัว และได้รับสินเชื่อที่เป็นธรรม ไม่ต้องโดนดอกเบี้ยสูงของหนี้นอกระบบที่เข้ามาฉวยโอกาสเมื่อไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้

นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการองค์กรของผู้บริโภค ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ความจริงแล้วจุดประสงค์ของการมีเครดิตบูโรคือต้องการให้ประชาชนมีวินัยทางการเงิน และมีการเก็บข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกรรม แต่ปัจจุบันจะเห็นว่าเพราะตัวกฎหมายเองที่ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ ดังนั้น หากจะปฏิรูปก็ต้องมีการสร้างกติกาใหม่ให้ วิน-วิน ทั้งคู่ เช่น การใช้คะแนนบูโรเป็นตัวกำหนดดอกเบี้ย พูดง่าย ๆ คือ ถ้าจ่ายตรง จ่ายครบ ก็อาจจะได้ดอกเบี้ยต่ำ หากจ่ายล่าช้าก็อาจจะขอสินเชื่อได้จำนวนน้อยลง มีดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่ปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ว่าจะจ่ายช้าจ่ายเร็วดอกเบี้ยก็เท่ากันหมด

ขณะที่ นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร ก็เปิดเผยว่า ตอนนี้มีหนี้เสียรอการแก้ไข ยอดหนี้ของไตรมาส 3 สิ้นเดือนกันยายน ยังคงพุ่งทะลุ 1 ล้านล้านบาท มีจำนวนลูกหนี้ประมาณ 3 ล้านคน และที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ กลุ่มลูกหนี้จากสินเชื่อรถยนต์ ​ยอดอยู่ที่​ 2.07 แสนล้านบาท​ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้วถึง 21% ส่งผลให้กลุ่มลูกหนี้เหล่านี้มีประวัติหนี้เสีย ไม่สามารถไปต่อในการทำธุรกรรมอื่นได้ ปัญหายังคงอยู่ วิบากกรรมยังคงอยู่ ถือว่าทรงตัว ส่วนที่มีปริมาณลดลงมาคือสินเชื่อเกษตรที่ได้รับอานิสงส์​จากการปรับโครงสร้างหนี้ในมาตรการพักชำระหนี้

ร่างกฎหมายฉบับนี้จะถูกยื่นต่อประธานสภาฯ ในสัปดาห์นี้ หากการผลักดันร่างกฎหมายนี้สำเร็จ จะช่วยประชาชนได้ถึง 5 ล้านคน ที่ติดแบล็กลิสต์ให้เข้าถึงสินเชื่อที่เป็นธรรมได้อีกครั้ง

ขอบคุณภาพจาก : Facebook อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี, Surapol Opasatien