ชาวสวนยางพารา ร้องศาลปครอง เพิกถอนประกาศเก็บภาษี 1.2% ปลูกยางฯ ต่ำกว่า 80 ต้น/ไร่ ทำรายจ่ายเพิ่ม 8 เท่า

View icon 160
วันที่ 3 พ.ย. 2566
สนามข่าว 7 สี
แชร์
สนามข่าว 7 สี - เกือบสองเดือนในการบริหารประเทศของรัฐบาลเศรษฐา อาจเรียกว่าไม่มีเวลาฮันนีมูนจริง ๆ ตามที่ นายกฯ เศรษฐา เคยพูดไว้ตั้งแต่วันที่ได้รับตำแหน่ง เจอสารพัดปัญหาใหญ่ ๆ เข้ามาพร้อม ๆ กัน อีกหนึ่งระเบิดเวลาที่รออยู่ คือภาษีสวนยางพารา ที่จะเริ่มเก็บกันในเดือนมีนาคมปีหน้า กำหนด ถ้าปลูกยางพาราต่ำกว่า 80 ต้นต่อไร่ อัตราภาษีต้องจ่ายเพิ่มแบบก้าวกระโดดเลย จาก 0.15% เป็น 1.2% เท่ากับเพิ่มไป 8 เท่า ทำให้มีการไปร้องศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนประกาศกระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย

ภาษีที่เพิ่มแบบก้าวกระโดดนี่ ก็เกิดจาก พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน คุณผู้ชมยังจำกันได้ใช่มั้ย กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมปี 2563 แต่ช่วงนั้นเกิดวิกฤตโควิด-19 รัฐบาลก็ผ่อนผันไม่ได้เก็บเต็มจำนวน กระทั่งสถานการณ์ประเทศเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ ก็เลยเริ่มเก็บเต็มเหนี่ยวกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ส่วนของสวนยางพาราที่เริ่มโอดครวญกันออกมาตอนนี้ ก็เพราะต้องจ่ายในรอบภาษีปี 67 ก็คือเริ่มเก็บกันในเดือนมีนาคม ปีหน้า เหลืออีกแค่ 4 เดือนเท่านั้น

สมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และสมาคมเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราไทย ก็เลยไปฟ้องศาลปกครองจังหวัดระยอง เพื่อให้เพิกถอนประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าว เนื่องจากทำให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อนเสียหาย เพราะจำนวนต้นที่กำหนดไว้ว่าต่ำกว่า 80 ต้น เข้าเกณฑ์ต้องจ่ายนี่ ทำให้ชาวสวนยางทั่วประเทศนั่นแหละ ต้องจ่ายเพิ่ม เนื่องจากส่วนใหญ่ก็ปลูกกันไม่ถึง 80 ต้นต่อไร่อยู่แล้ว ประกาศฉบับนี้ขัดแย้งกับพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 มาตรา 4 ที่จำกัดความคำว่า "สวนยาง" ไว้เฉลี่ยอยู่ที่ 25 ต้นต่อไร่เท่านั้นเอง 

เรียกว่าราคายางก็ตก และยังต้องมาเสียภาษีเพิ่มอีก แบบนี้ชาวสวนยางพาราบอกไปต่อไม่ไหวจริง ๆ  ซึ่งหลังมีการร้องต่อศาลปกครองก็มีการเปิดเผยจาก นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ลงนามหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอให้พิจารณาปรับอัตราขั้นต่ำต้นยางเป็น 25 ต้น/ไร่ เพื่อช่วยบรรเทาภาระด้านภาษีให้กับเกษตรกรแล้ว ก็ต้องลุ้นกันต่อว่าจะปรับแก้ไขกันได้ทัน ก่อนที่จะเกิดการเคลื่อนไหวใหญ่ของชาวสวนยางพาราหรือไม่