อุทธรณ์ยืนยกฟ้อง 21 แกนนำกลุ่มพธม. ปิดล้อมสภาปี 51 ชี้ ประชุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ

View icon 121
วันที่ 2 พ.ย. 2566
ข่าวออนไลน์7HD
แชร์
อุทธรณ์ยืนยกฟ้อง 21 แกนนำกลุ่มพธม. ปิดล้อมสภาปี 51 ขับไล่นายกสมัคร-ขวางประชุมสภา ชี้ ประชุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ รัฐธรรมนูญปี 50 รับรอง

วันนี้ (2 พ.ย.66) ที่ห้องพิจารณา 806 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีกลุ่มพันธมิตรฯ ร่วมกันชุมนุม คดีหมายเลขดำ อ.4924/55 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรฯ และอดีตแนวร่วมคนอื่น ๆ รวม 21 คน เป็นจำเลยในความผิดฐาน ร่วมกันใช้กำลังข่มขืนใจหรือใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

กรณีเมื่อระหว่างวันที่ 25 พ.ค.-7 ต.ค.51 ต่อเนื่องกัน จำเลยซึ่งเป็นแกนนำได้ชักชวนประชาชนเข้าร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อกดดัน ก่อความวุ่นวายให้นายสมัคร สุนทรเวช ลาออกจากนายกรัฐมนตรี และปิดล้อมสภาสถานที่ราชการ เพื่อมิให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และคณะร่วมแถลงนโยบาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116,215,216,309,310 พวกจำเลยให้การปฏิเสธ

คดีนี้เมื่อวันที่ 4 มี.ค.62 ศาลอาญาพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า การชุมนุมของพวกจำเลย เป็นการแสดงสัญลักษณ์ ปราศรัยที่สมเหตุผล ห้ามปรามไม่ให้ก่อความรุนแรง ถือเป็นการชุมนุมโดยสงบตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ซึ่งได้รองรับไว้ และแม้จะมีการกีดขวางกระทบการจราจรไปบ้าง แต่ก็เป็นปกติของการชุมนุมแสดงออกตามสิทธิ การชุมนุมตั้งแต่วันที่ 5 -7 ต.ค. 51 ไม่ปรากฏว่ามีความรุนแรงหรือมีผู้ใดฝ่าฝืนทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ต่อมา อัยการโจทก์ ยื่นอุทธรณ์ ขอให้ลงโทษ พวกจำเลยด้วย
     
วันนี้ นายสนธิ พร้อมพวกจำเลยเดินทางมาฟังคำพิพากษาโดยพร้อมเพรียงกัน  และมีกลุ่มผู้สนับสนุนเดินทางมอบช่อดอกไม้เป็นกำลังใจด้วย

ขณะที่ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือแล้ว เห็นว่า พวกจำเลย ร่วมกันชุมนุม โดยสงบปราศจากอาวุธ ต่อสู้ตามหลัก อหิงสา อีกทั้งศาลปกครองเคยมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม โดยใช้แก๊สน้ำตาเป็นการกระทำรุนแรงเกินกว่าเหตุ ตามสิทธิขั้นพื้นฐานในการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญปี 2550 รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) มีความเห็น เป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยมานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน